svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อินไซด์ครม. ถกปม "ดิไอคอน" เข้าเงื่อนไขกม.ใดเพื่อเอาผิด หรือ คว้าน้ำเหลว

กลายเป็นวาระแห่งชาติ กันแล้วถึงขนาดที่ประชุมครม. หยิบยกหารือ กรณี ปัญหาธุรกิจ "ดิไอคอนกรุ๊ป" ภายหลังมีผู้เสียหายร้องเรียนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่มูลค่าความเสียหายเกินร้อยล้านบาท ท่ามกลางคำถาม จะสามารถเอาผิดตามกฎหมายใดได้บ้าง

15 ตุลาคม 2567  การประชุมคณะรัฐมนตรี( ครม.) ประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ที่มี "แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี " เป็นประธาน มีการหยิบยก ประเด็น "ธุรกิจดิไอคอน" ที่ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก และมีมูลค่าความเสียหายมากกว่าร้อยล้านบาทขึ้นไป มาหารือ ว่า หน่วยงานต่างๆที่อยู่ในความรับผิดชอบ รมต. มีการทำงานในเรื่องนี้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน 

 

ท่ามกลางคำถาม การดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้ จะเข้าเงื่อนไขกฎหมายข้อใดและเอาผิดได้หรือไม่หรือในที่สุดจะคว้าน้ำเหลว???   
 

อินไซด์ครม. ถกปม \"ดิไอคอน\" เข้าเงื่อนไขกม.ใดเพื่อเอาผิด หรือ คว้าน้ำเหลว

เริ่มจากกระทรวงสาธารณสุข  โดย "สมศักดิ์  เทพสุทิน"   รมว.สาธารณสุข รายงานปี 2562   ตรวจพบ "ดิไอคอน" โฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายอาหารและยา จำนวน 6 คดี จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและยาในฉลากที่ไม่ถูกต้อง  5 คดี  ดำเนินการปรับทั้งหมดแล้ว  ขณะเดียวกันมี คดีอาญา  1 คดี อยู่ในการพิจารณาของศาล  (เป็นคดีที่นอกเหนือความรับผิดชอบของ อย. )
 

งัด พรก.กู้ยืมฉ้อโกงประชาชน

กระทรวงการคลังโดย "นายพิชัย ชุณหวชิร" รองนายกฯ และรมว.คลัง ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้ดูในเรื่องของข้อกฎหมาย  2 ส่วน ด้วยกัน 1. เข้าข่าย ผิดมาตรา 341 342 ประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่  และ 2. เข้าข่าย "พรก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 " โดยมี 3 ลักษณะ  


 "นายพิชัย ชุณหวชิร" รองนายกฯ และรมว.คลัง

2.1  เป็นการโฆษณา ให้บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปรับรู้ 

2.2 จ่ายผลตอบแทนที่สูงกว่า หากมีลักษณะการกู้ยืมเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่จ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่สถาบันการเงินคิดคำนวณ 

2.3  เข้าเงื่อนไขการนำเงินจากคนอื่น เพื่อมาจ่ายหมุนเวียน ให้กับผู้ที่ให้การกู้ยืม และกิจการที่ประกอบนั้น ชอบด้วยกฎหมาย และผลประโยชน์ที่ได้จากการประกอบการมีเพียงพอที่สามารถนำมาจ่ายได้ 

ทั้งนี้ จะเข้าข่ายผิดกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ 

 

 

"พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง" รมว.ยุติธรรม

เล็งเป็นคดีพิเศษ 

ด้านกระทรวงยุติธรรม โดย "พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง" รมว.ยุติธรรม รายงานว่า   กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)   เข้าไปดูเรื่องการฟอกเงิน  หากจำนวนเงินเกินกว่า 800 ล้านบาท จะมีการตรวจสอบเส้นทางการเงิน และถ้าหากหลักฐานเป็นประโยชน์ จะส่งให้เป็นคดีพิเศษ  เช่น การนำอัยการมาร่วมสอบสวน ซึ่งจะเข้าถึงข้อมูลได้

ขณะนี้ ช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินการทางแพ่ง โดยฟ้องคดีเป็นกลุ่ม หรือคดีคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อติดตามทรัพย์สินมาคืนผู้เสียหาย พร้อมมอบให้ดีเอสไอ เป็นผู้ติดตามทรัพย์สินมาคืนให้กับผู้เสียหาย เบื้องต้น ทรัพย์สินอยู่ในถาวรวัตถุ ซึ่งอาจจะขอคืนเงินได้ มากกว่า 700 ล้านบาท  

จิราพร สินธุไพร  รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี

จับตา เรียกผู้บริหาร"ดิไอคอน" ให้ข้อมูล

สำนักนายกฯ  โดย"จิราพร  สินธุไพร"  รมต.สำนักนายกฯ กำกับดูแลสคบ. รายงานว่า ประสานข้อมูล สตช. ปคบ. ปปง. ในการดำเนินคดี ตามพ.ร.บ.ธุรกิจขายตรงและตลาดตรง มาตรา 19 ได้ หรือไม่ ทั้งนี้ ในวันที่ 16 ตุลาคม ได้เชิญ ผู้บริหารดิไอคอน และศิลปินดารา มาให้ข้อมูล  

 

ส่วนที่มีการพาดพิง "เทวดาในสคบ." หรือผู้ที่มีส่วนในการเอื้อประโยชน์ให้กับ"ดิไอคอน"นั้น ได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยเชิญบุคคลนอกมาร่วมเป็นคณะกรรมการ