คณะกรรมการสอบวินัยฯ ไฟเขียวปมสั่ง “บิ๊กโจ๊ก” ออกราชการ
มีรายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง พล.ต.อ.สุรเชษฐ หักพาล ได้มีการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม โดยมีเรื่องพิจารณาที่สำคัญคือ การเสนอแนะความเห็นตามมาตรา 120 วรรคสี่ ของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงและแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายในแวดวงนักกฎหมาย ว่าคำสั่งของรักษาการแทน พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ที่ให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อน เพราะถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยร้ายแรงและต้องหาคดีอาญานั้น กระทำได้ตามกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากมีผู้โต้แย้งว่า ต้องมาจากการเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงฯ เท่านั้น
ผลการประชุมสรุปว่าคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง ได้พิจารณาและมีมติว่า กรณีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือต้องหาคดีอาญา ซึ่งไม่ใช่ความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ
ดังนั้นผู้ออกคำสั่งคือ รักษาราชการแทน ผบ.ตร. จึงมีอำนาจตามมาตรา 105 และ 108 สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาพักหรือออกราชการไว้ก่อนตาม พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ มาตรา 131 ได้ จึงยังไม่มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมแต่อย่างใด หากพบว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องอื่นอีก ก็จะรายงานรักษาราชการแทน ผบ.ตร.ต่อไป
รอกฤษฎีกาเคาะ! จ่อทูลเกล้า “บิ๊กโจ๊ก” พ้นราชการ
ขณะที่ความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ หลักปฏิบัติเมื่อการ “สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน” สำหรับข้าราชการตำรวจชั้นนายพล จะต้องมีการนำความขึ้นกราบบังคับทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการ
ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติ มาตรา 140 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565
ความว่า “การพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการตำรวจตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือตำแหน่งเทียบเท่า ให้นำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ”
สำหรับการ “สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน” ถือว่าเป็นการพ้นจากราชการโดยยังไม่ได้ถูกลงโทษ จึงเข้าข่ายต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง ตามกฎหมายมาตรานี้
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ให้ข้อมูล ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอน “ก่อน” นำความขึ้นกราบบังคมทูล เนื่องจากต้องมีความรอบคอบอย่างที่สุด โดยเฉพาะเรื่องข้อกฎหมาย จึงมีการนำเรื่องสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะมีคำตอบกลับมาในสัปดาห์หน้า และรัฐบาลจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ประกอบกับ ขณะนี้ “บิ๊กโจ๊ก” เอง ก็ได้ทำเรื่องอุทธรณ์มายังนายกรัฐมนตรี ให้ทบทวน “คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน” ด้วยว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นแม้จะมีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ มาตรา 140 แต่ก็ต้องสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อความชัดเจน
ใกล้ถึงบทสรุป “บิ๊กโจ๊ก” ?
แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การนำความขึ้นกราบบังคมทูล หากเกิดขึ้นจริง จะเป็นบทสรุปของปัญหานี้ เพราะหากมีพระบรมราชโองการลงมา ทุกอย่างต้องจบ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นคำร้องของ “บิ๊กโจ๊ก” ให้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ กพค.ตร. วินิจฉัยเรื่องนี้ หรือการนำคดีไปฟ้องศาลปกครองก็ตาม รวมถึงเรื่องที่อุทธรณ์คำสั่งมายังนายกรัฐมนตรีด้วย ทุกอย่างแทบจะสิ้นผลทันที
ดังนั้นอนาคตของ “บิ๊กโจ๊ก” จึงแขวนอยู่กับขั้นตอนนี้ จึงไม่แปลกที่เจ้าตัวจะพยายามอุทธรณ์ทุกวิถีทาง