svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"กูรูกฎหมาย" การันตีคำสั่งให้ "บิ๊กโจ๊ก" ออกจากราชการไว้ก่อนไม่ผิด

01 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กูรูกฎหมาย" การันตีคำสั่งให้ "บิ๊กโจ๊ก" ออกจากราชการไว้ก่อนไม่ผิด ยกเหตุเป็นไปตาม มาตรา 131 พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ ฉบับใหม่ ไม่ใช่มาตรา 120 ตามที่อดีตรอง ผบ.ตร.อ้าง

1 พฤษภาคม 2567 เป็นประเด็นที่ต้องจับตาว่าที่สุดเรื่องจะจบอย่างไร กรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร. ถูกคำสั่ง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ให้ออกจากราชการไว้ก่อน จากการทำผิดวินัยร้ายแรง พร้อมเซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุด พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช รอง ผบ.ตร. เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวน โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ โต้แย้งว่า การออกคำสั่งให้ออกจากราชการดังกล่าว ขัดต่อระเบียบและข้อกฎหมาย เชื่อว่ามีการเตรียมการและวางแผนเป็นขั้นตอน 

ขณะที่ท่าทีของทั้งนายกฯ เศรษฐา และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ หรือ “บิ๊กต่าย” ที่ดูจะมั่นอกมั่นใจว่า กระบวนการสั่งให้ "บิ๊กโจ๊ก" ออกจากราชการไว้ก่อน ไม่ผิดขั้นตอน และไม่น่าจะขัดพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ ฉบับใหม่ ตามที่ฝ่าย “บิ๊กโจ๊ก” อ้างถึงมาตรา 120 
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร.
 

ล่าสุดมีรายงานว่า “ทีมบิ๊กต่าย” ได้รับคำยืนยันจาก “กูรูกฎหมาย” ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาประเด็นนี้ด้วย สรุปว่า กรณีของ “บิ๊กโจ๊ก” ไม่ได้เข้าข่ายพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ มาตรา 120 แต่ไปเข้ามาตรา 131 กล่าวคือ 

ตามมาตรา 131 วรรคหนึ่ง “บิ๊กต่าย” ในฐานะผู้บังคับบัญชา ย่อมมีอำนาจสั่งให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน ภายใต้เงื่อนไขว่า “หากผู้ถูกกล่าวหาทำผิดวินัยร้ายแรง จนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา” 

เงื่อนไขเหล่านี้ย่อมมีผลทำให้ผู้บังคับบัญชา มีอำนาจที่จะสั่งพักราชการ และออกจากราชการไว้ก่อนได้ โดยมาตรา 131 วรรคหนึ่ง ชี้ชัดว่า “เป็นอำนาจดุลยพินิจโดยเฉพาะของผู้บังคับบัญชา”  โดยไม่ต้องรอให้คณะกรรมการสอบสวนทำข้อเสนอแนะเหมือน มาตรา 120 ซึ่งเกี่ยวกับการรอนสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ถูกสอบสวน

แม้มาตรา 131 วรรค 6 จะบัญญัติว่า อำนาจของผู้บังคับบัญชาในการสั่งพักราชการ หรือออกจากราชการไว้ก่อน ต้องเป็นไปตามที่กำหนดใน กฎ ก.ตร.  ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 131 วรรค 6 ก็ตาม 
พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช รอง ผบ.ตร. ประธานคณะกรรมการสอบสวน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์
 

แต่ปัจจุบันยังไม่มีการตรากฎ ก.ตร. ที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ คือ พ.ศ.2565 ดังนั้น ตามบทเฉพาะกาล ในมาตรา 179 จึงต้องนำหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสั่งพักราชการ หรือการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.ตร.เดิม เมื่อปี 2547 มาบังคับใช้โดยอนุโลมไปพลางก่อน

ส่วนที่มีการกล่าวอ้างว่า ในกรณี “บิ๊กโจ๊ก” การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นการขัดต่อ มาตรา 120 วรรคท้ายนั้น จริง ๆ แล้วการดำเนินการทางวินัย ในกรณีการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามที่บัญญัติในมาตรา 120 วรรคท้าย เป็นคนละกรณีกับการดำเนินการทางวินัย ในกรณีการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามที่บัญญัติในมาตรา 131 วนรคหนึ่ง เพราะตามมาตรา 120 วรรคท้าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาเกี่ยวกับการสืบสวน สอบสวน และการดำเนินการสืบเนื่องมาจากการดำเนินการตามมาตราอื่นๆ 

เพียงแต่ตามมาตรา 120 วรรคท้าย บัญญัติห้ามว่า จะอ้างเหตุที่ถูกสอบสวน แล้วไปกระทบสิทธิ์ หรือรอนสิทธิ์ ผู้ที่ถูกสอบสวนไม่ได้  เว้นแต่คณะกรรมการสอบสวนจะเสนอให้สั่งพักราชการหรือออกจากราชการ (เช่น สิทธิที่จะได้รับการแต่งตั้งในปีนี้ เพราะครบวาระการดำรงตำแหน่ง เป็นต้น) 

ส่วนมาตรา 131 วรรคหนึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายให้อำนาจดุลพินิจโดยแท้ หรือเป็นการเฉพาะแก่ผู้บังคับบัญชาที่จะสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 130 วรรคหนึ่ง และวรรคหก โดยไม่ต้องรอข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวนแต่อย่างใดทั้งสิ้น และใช้บังคับเฉพาะกับกรณีถูกกล่าวหาว่าทำผิดวินัยร้ายแรง หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา เท่านั้น
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบ.ตร.
 

logoline