svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

อสส. ยันมีอำนาจสูงสุด ในการสั่งตั้งพนักงานสอบสวนคดี "ตู้ห่าว"

อย่าสับสน! อสส. ยันมีอำนาจสูงสุด ในการสั่งตั้งพนักงานสอบสวนคดี "ตู้ห่าว" หากเป็นคดีนอกราชอาณาจักร เผยดีเอสไอยังไม่ประสานขอร่วมเป็นพนักงานสอบสวน หลังรับคดี "ตู้ห่าว" เป็นคดีพิเศษ

15 ธันวาคม 2565 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยความคืบหน้ากรณี น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด ได้ลงนามคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ 2167/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานกำกับการสอบสวนและการดำเนินคดีสำคัญ ในคดี นายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือ "ตู้ห่าว" กับพวก คดีมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 
ตร. - ป.ป.ส. เข้าอายัดโรงแรมดังของ "ตู้ห่าว" มูลค่าหลายพันล้าน
"ตู้ห่าว" เข้าเงื่อนไขฟอกเงิน รับเป็นคดีพิเศษ ยึดทรัพย์แล้วกว่า 5 พันล้าน
"ดีเอสไอ" รับคดี "ตู้ห่าว" เป็นคดีพิเศษ ในฐานความผิดฟอกเงินจากคดียาเสพติด
ด่วน! อสส. เซ็นตั้งคณะทำงานพิจารณาคดี "ตู้ห่าว" เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ

 

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด

นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า คณะทำงานได้มีการพูดคุยกันในชั้นต้นแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการนัดกันว่าจะประชุมเมื่อใด ซึ่งตามหนังสือคำสั่งของทาง อสส. ให้คณะทำงานไปกำกับดูแลการสืบสวน ซึ่งเท่ากับว่า ยังต้องมีอีกคำสั่งหนึ่งคือ การตั้งพนักงานสอบสวน ที่อาจจะเป็นการร่วมมือกัน ระหว่างพนักงานสอบสวนกับอัยการ ทั้งนี้ในหนังสือคำสั่งของ อสส. ระบุไว้ว่า คณะทำงานที่ทาง อสส. ตั้งขึ้น สามารถตั้งคณะทำงานย่อยขึ้นมาได้ แต่ในเรื่องการสั่งตั้งพนักงานสอบสวน จะต้องเป็นคำสั่งของ อสส.   

นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า การตั้งคณะทำงานและพนักงานสอบสวน เป็นการตั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20 ที่ระบุว่า อสส. คือ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ซึ่งมาจากหนังสือที่ทางผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้รายงานมาว่า มีการกระทำความผิดส่วนหนึ่งเป็นความผิดนอกราชอาณาจักรไทย จึงเข้าเงื่อนไขตามกฎหมาย มาตรา 20 ที่ต้องให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 



นายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือ "ตู้ห่าว" นักธุรกิจทุนจีนสีเทา
 

เมื่อถามว่า ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษมีการแถลงรับคดี "ตู้ห่าว" เป็นคดีพิเศษ จะเป็นการซ้ำซ้อนกับคณะกำกับดูแล หรือพนักงานสอบสวนที่ อสส. มีคำสั่งตั้งขึ้นมาหรือไม่ นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า ดีเอสไอคงจะดำเนินการสอบสวนในชั้นต้นก่อน แต่ถ้าพบว่า เป็นคดีนอกราชอาณาจักร จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20 ที่บัญญัติไว้ว่า อำนาจสอบสวนเป็นของ อสส. ซึ่ง อสส. ก็จะมอบหมายให้ใครดำเนินการสอบสวนต่อไป เบื้องต้นทราบว่า ดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษ ในส่วนของข้อหาฟอกเงินคดียาเสพติด 

เมื่อถามต่อว่า เมื่อเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร เข้ามาเกี่ยวกับข้อหาฟอกเงิน ใครจะมีอำนาจสอบสวน รองโฆษก อสส. กล่าวว่า จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย หากกฎหมายเขียนอย่างไรต้องทำอย่างนั้น คณะทำงานที่ อสส. ตั้งขึ้นมา จะต้องเป็นผู้กระทำการสอบสวน หรือทำในนามของ อสส. ดังนั้น อสส. จึงได้มอบหมายให้ทำโดยพนักงานสอบสวน อาจจะเป็นชุดเดิม หรือมีการเพิ่มเติมก็ได้

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเป็นคดีนอกราชอาณาจักรแล้ว ควรจะเป็นความร่วมมือ ที่ทั้งตำรวจและอัยการ จะเข้ามาช่วยกันดู เพื่อทำสำนวนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จ ตามที่ อสส. มีคำสั่งไว้ คือจะต้องทำสำนวนให้แล้วเสร็จ ก่อนครบกรอบระยะเวลาการฝาก เพื่อให้มีเวลาเหลือพอสมควร ให้ อสส. ได้พิจารณาสั่งคดี 

เมื่อถามว่า การที่ดีเอสไอไปรับเป็นคดีพิเศษ จะเสี่ยงเป็นการสอบสวนไม่ชอบหรือไม่ และมีประสานมายัง อสส. ให้ตั้งดีเอสไอเป็นพนักงานสอบสวนได้หรือไม่ นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า หากดีเอสไอสอบสวนแล้วพบว่า เป็นความผิดนอกราชอาณาจักร ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย คือทำหนังสือมายัง อสส. เพื่อดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายต่อไป

แต่ขณะนี้ ดีเอสไอยังไม่ได้มีการประสานมา ถ้าหากเริ่มมีการสอบสวน ก็จะต้องมีหนังสือประสานมาเหมือนกรณีกับตำรวจนครบาลทำมา แล้วทาง อสส. จะพิจารณาว่า มีหน้าที่ตามกฎหมายอย่างไรบ้าง รวมถึงอาจสามารถตั้งดีเอสไอ เป็นพนักงานสอบสวนได้ตามอำนาจ แต่กรณีนี้หนังสือจาก ผบช.น. แจ้งว่า มีการกระทำผิดบางส่วนนอกราชอาณาจักร ส่งมาพร้อมเอกสารจำนวนมาก ซึ่ง อสส. ได้พิจารณา จนตั้งคณะทำงานกำกับการสอบสวนขึ้นมาเเล้ว

 

ยธ. และดีเอสไอ แถลงกรณีรับคดี "ตู้ห่าว" เป็นคดีพิเศษ