svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"ทรู-ดีแทค"ควบรวมกิจการ"ปชช.-ผู้ประกอบการหน้าใหม่"มีแต่เจ็บกับจุก

"นักวิชาการ"มองการควบรวม "ทรู-ดีแทค" เข้าทางผู้ถือหุ้นโกยเงิน ขณะที่ "เอไอเอส" รับอานิสงส์รายได้ ส่วน "ประชาชน-ผู้ประกอบการหน้าใหม่"เจ็บหนัก-เติบโตยาก

จากประเด็นการควบรวมธุรกิจของ 2 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ อย่าง ทรู และ ดีแทค จนอาจกลายเป็นการผูกขาดทางการตลาด ที่ส่งผลต่อประชาชน ในฐานะผู้ใช้บริการ

 

โดย นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB - 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง เปิดเผยว่า ผลการศึกษาพบว่า การควบรวมครั้งนี้ทำให้เกิดการกระจุกตัวของตลาดโทรคมนาคมสูง จากเดิมในประเทศไทยมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 ราย คือ AIS True Dtac ซึ่ง AIS มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 46-47% True ราว 33% ขณะที่ Dtac ประมาณ 18-20% และรายเล็กสุด คือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT อยู่ที่ 3% แปลว่าเมื่อเกิดการควบรวมของทรูกับดีแทค ก็จะทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดขึ้นไปสูสีกับ AIS 

 

\"ทรู-ดีแทค\"ควบรวมกิจการ\"ปชช.-ผู้ประกอบการหน้าใหม่\"มีแต่เจ็บกับจุก

 

ทั้งนี้ ดัชนี HHI แสดงให้เห็นว่าหากเป็นตลาดที่ผูกขาดเพียงรายเดียว จะเป็น 100% โดยค่าจะอยู่ที่ 10,000 แต่เมื่อใดที่ผู้แข่งขันเยอะขึ้น ค่าจะลดลงจนใกล้ศูนย์ ซึ่งเท่ากับตลาดนั้นเกิดการแข่งขันที่เสรีอย่างที่สุด แต่หากหลังจากเกิดการควบรวมของ True และ Dtac ดัชนีจะเพิ่มขึ้นจาก 3,578 ไปที่ 4,823 หรือเพิ่มขึ้นถึง 32.4% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในขณะที่ กสทช. เคยระบุไว้ในกฎหมายว่า หากตลาดมีดัชนี HHI เกิน 2,500 ถือเป็นตลาดที่มีความอันตราย

 

 

"จากการใช้สูตรคำนวณทางเศรษฐกิจที่มีการคำนวณต้นทุนจึงได้ศึกษาปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นโดยนำเรื่องครอบคลุมของโครงข่าย 3G 4G และ 5G มาทำเป็นแบบจำลองทางสถิติว่ าหาก HHI เพิ่มจาก 3,578 จุด เป็น 4,737 จุด ซึ่งจากราคาเฉลี่ยตามแพคเก็จที่มาหารกันตลาดประเทศไทยอยู่ที่ 220 บาทต่อเดือน แต่หากเมื่อมีการควบรวมธุรกิจกันนั้น  ทำให้พบว่าหากมีการแข่งขันกันรุนแรงแม้จะเหลือเพียง 2 ราย ราคาค่าบริการก็ยังเพิ่มขึ้นราว 7-10% ราว 235-242 บาท แต่ถ้าเกิดมีการแข่งขันกันตามปกติราคาที่เพิ่มขึ้นประมาณ 13-23% ราว 249-270 บาท แต่ในหาก 2 รายรู้สึกว่าพอใจกับจำนวนลูกค้ากับการแข่งขันที่เป็นอยู่จนไม่เกิดการแข่งขันกับมาร์เก็ต แชร์คนละ 50% และสามารถขึ้นราคาหรือฮั้วค่าบริการกันได้จะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวได้เลย ราว 66-120% คิดเป็นราคา 365-480 บาท" นายฉัตร กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ตัวประกาศ กสทช. ปี 2561 แม้ว่าข้อ 5 จะเขียนว่า ให้การควบรวมนั้นเป็นการรายงาน แต่ถ้าดูประกาศในข้อ 9 ระบุว่า การควบรวมต้องได้รับการอนุญาตจาก กสทช. และข้อ 8 เขียนว่าการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันทั้งทางตรงทางอ้อมหรือผ่านตัวแทนโดยมีการซื้อหุ้นหรือเข้าถือครองหุ้นเกิน 10% ขึ้นไปจะทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ซึ่งถ้าเกิดการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขัน กสทช.มีอำนาจสั่งห้ามได้ หรือว่าใช้การกำหนดมาตรการเฉพาะก็ได้

 

\"ทรู-ดีแทค\"ควบรวมกิจการ\"ปชช.-ผู้ประกอบการหน้าใหม่\"มีแต่เจ็บกับจุก

 

สำหรับมาตรการบังคับใช้ได้ประกาศ กสทช. ปี 2549 ปี 2561 โดยปี 2561 มีเงื่อนไข 4 ข้อ

 

1.HHI เกิน 2,500 ซึ่งตรงนี้เห็นได้ชัดว่าเกินอยู่แล้ว 

 

2.การควบรวมทำให้การกระจุกตัวเพิ่มขึ้นเกิน 100 จุด แต่ครั้งนี้คือเกิน 1,000 จุด 

 

3. มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

 

4.การครอบครองโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นทั้งเสาและสถานีฐาน

ขณะที่ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การควบรวมจะเป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้น ทรูและดีแทค เนื่องจากผู้เล่นในตลาดโทรศัพท์มือที่ลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย แต่จะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ดีลเลอร์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในหลายๆส่วน ดังนั้น ไม่ว่าจะเรียกความร่วมมือทางธุรกิจที่เกิดขึ้นว่าอะไร นี่คือ การควบรวมกิจการ มีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว การควบรวมกิจการครั้งนี้จึงค่อนข้างอันตรายต่อการผูกขาดตลาด ผู้ได้อานิสงส์ หรือ ผลกระทบทางบวกจากเรื่องนี้ คือ ผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท บริษัทคู่แข่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ แต่มีราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น แม้แต่เอไอเอสที่ไม่ได้อยู่ในดีลควบรวมนี้ ราคาหุ้นก็พุ่งขึ้นอย่างมาก ดังนั้น ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่เมื่อควบรวมแล้ว จะทำให้เหลือผู้เล่นเพียงสองราย การแข่งขัน และตัดราคากันจะน้อยลงไปด้วย 

 

\"ทรู-ดีแทค\"ควบรวมกิจการ\"ปชช.-ผู้ประกอบการหน้าใหม่\"มีแต่เจ็บกับจุก

 

ส่วนผู้ได้รับผลด้านลบ คือ ผู้บริโภค และคู่ค้าของผู้ให้บริการที่อาจจะมีอำนาจต่อรองลดลง ธุรกิจสตาร์ทอัพที่คาดว่า จะได้รับการสนับสนุนการควบรวม จะทำให้ผู้สนับสนุนลดลงไปหนึ่งราย ส่วนรัฐบาลจะได้รับผลกระทบรายได้ลดลง ถ้ามีการประมูลคลื่นความถี่ ผู้เข้าประมูลลดลงรายได้ของรัฐย่อมลดลง ขณะที่ประชาชนจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อไปทดแทนรายได้ของรัฐที่หายไป ถัดมา คือ ระบบเศรษฐกิจไทย ผลของการควบรวมกิจการจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีต้นทุนสูงขึ้น การประกอบอาชีพ การค้าขายออนไลน์ การเรียนออนไลน์ ฯลฯ จะได้รับผลกระทบทั้งหมด

 

"ดีลการควบรวม ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายได้ประโยชน์อย่างชัดเจน ดูได้จากราคาหุ้นของดีแทค ก้าวกระโดดขึ้น ตลอด 5 วัน หลังจากประกาศวบรวมเมื่อปลายเดือรพ.ย.ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 17% ขณะที่ ทรู หุ้นเพิ่มขึ้น 15% ไม่เว้นคู่แข่ง เอไอเอส ราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้น 7.7% ด้วย แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง กับการควบรวมกิจการ แปลว่าเมื่อมีการควบรวมกันแล้ว ตลาดจะเหลือผู้เล่นเพียง 2 ราย ผู้เล่น 2 ราย จะมีความจำเป็นที่แข่งขันกัน ตัดราคากัน โปรโมชั่นดีๆ บริการใหม่ๆ จะน้อยลงกว่าการที่มี 3 ราย ด้วยนัยนี้ เอไอเอสจึงได้ประโยชน์ไปด้วย แม้ไม่ใช่คนที่ไปควบรวม" นายสมเกียรติ ระบุ

 

ทั้งนี้ หากถามว่าทำไมต้องห่วงการกระจุกตัว เพราะปัจจุบันระดับของการกระจุกตัวค่อนข้างสูงมาก ก่อนเกิดการควบรวมซึ่งในต่างประเทศมีเครื่องมือวัดการผูกขาดเชิงโครงสร้าง คือ ดัชนีการกระจุกตัว หรือ Herfindahl-Hirschman Index : HHI ซึ่งค่าสูงสุด10,000 คือ การผูกขาดรายเดียว ขณะที่ การควบรวมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ส่งผลให้ดัชนี HHI ของธุรกิจโทรคมไทย อยู่ที่ 3,700 เพิ่มขึ้นมาที่ 5,012 จาก 3,659 หรือเพิ่มขึ้น 1,353 เรียกว่า เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมหาศาล จนเกิดการกระจุกตัวในระดับอันตราย เป็นปัญหาใหญ่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ต้องพูดถึงในครั้งนี้

 

สำหรับทางออกเรื่องนี้ มี 3 แนวทาง

 

1.ไม่อนุญาตให้ควบรวม และหาก ดีแทคจะออกจากประเทศไทย ก็ให้ขายกิจการให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ไม่ใช่เอไอเอส และทรู

 

2.อนุญาตให้ควบรวม แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดมากและต้องเข้มข้นในทุกๆมิติให้บริษัทที่ควบรวมกัน คืนคลื่นมาบางส่วนแล้วนำมาจัดสรรใหม่ เพื่อให้มีผู้ประกอบการ 3 ราย ในตลาดโทรศัพท์มือถือ

 

3.อนุญาตให้ควบรวมกันได้ และส่งเสริมให้การผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน (MVNO) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายของตัวเอง แต่ทางเลือกนี้ ไม่ใช่ข้อเสนอที่เหมาะสมนัก เพราะ MVNO ไม่ได้เกิดง่าย และการดูแลจะยากมาก ดังนั้น จึงต้องป้องกันไม่ให้มีการผูกขาด เพราะหากปล่อยให้มีการผูกขาดแล้วไปแก้ไขในภายหลังจะยากมาก

 

"ตลาดโทรศัพท์มือถือในยุโรป จะไม่ยอมให้ควบรวมกันเหลือ 3 ราย แล้วมาเหลือ 2 ราย แม้กระทั่งสิงคโปร์ ซึ่งตลาดเล็กๆขนาดนั้นยังมีผู้ประกอบการมากกว่า 3 ราย แล้วทำไมไทยจะรองรับ 3 รายไม่ได้ ดังนั้น ข้อเสนอที่ดีที่สุด คือ ต้องไม่ให้มีการควบรวม หากดีแทคจะออกจากตลาดไทย ก็ให้ขายให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่ไม่ใช่เอไอเอสและทรูอีกทั้งเพื่อให้ตลาดมีการแข่งขัน มีต้นทุนลดลง จะต้องลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐาน ให้ใช้โครงข่ายร่วมกัน" นายสมเกียรติ กล่าว

 

ด้าน นายวิศรุต ครุฑไกรวัล คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เรื่องนี้มีความสำคัญ ซึ่งทุกคนต้องใช้โทรศัพท์ในการสื่อสารในเรื่องต่างๆ การควบรวมกิจการจะทำให้ประชาชนและประเทศได้ประโยชน์อะไร จุดประสงค์สำคัญในเรื่องของการควบรวมครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ของรัฐ ดังนั้น จึงต้องมองผลประโยชน์ของประเทศ

 

\"ทรู-ดีแทค\"ควบรวมกิจการ\"ปชช.-ผู้ประกอบการหน้าใหม่\"มีแต่เจ็บกับจุก

 

"ผมว่าไม่สมควรที่เอกชนจะมาใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ในการควบรวม จะทำให้เกิดการแข่งขันที่น้อยลง ผูกขาดตลาด อย่างเรื่อง ซีพี โลตัส ก็เข้ามาลงทุนในค้าปลีกที่กระทบต่อต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีอิทธิพลต่อตลาดในทุกมิติ ปิดกั้นการเติบโตของผู้ประกอบการรายเล็ก รายใหญ่ เพราะจะเป็นคู่แข่งในอนาคต เพราะฉะนั้นต้องมองก่อนว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไร จะมีผลต่อการกำหนดราคา การแข่งขัน การชี้นำตลาด ตกไปอยู่กับรายใหญ่หรือไม่"

 

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (9มิ.ย.) การขยายเครือข่ายต้องใช้ต้นทุนสูง กว่าจะคุ้มทุน ก็อาจจะไม่ลงทุนขยายแล้ว หรือขยายช้า เพราะมีคู่แข่งแค่สองราย ต่างจากการมีหลายรายที่ต้องแข่งขัน มีผลกระทบทั้งกับธุรกิจหน้าใหม่ และประชาชน ที่เป็นรูปธรรมเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น กล้วยในเซเว่น ลูกละ 8 บาท เพราะไปกว้านซื้อในตลาดมาขายเนื่องจากมีอำนาจ การควบรวมต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภคด้วย จึงอยากฝากผู้ที่มีความรู้และมีอำนาจตัดสินใจบนประโยชน์ของประชาชน และประเทศ ไม่ไห้เกิดการผูกขาด

 

นอกจากนี้ ผลศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ว่าจ้างให้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมล่าสุด มีการรายงานเป็นเอกสารยืนยันเช่นกันว่า หากผู้เล่นในตลาดลดลงจาก 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย โดยทั้ง 2 รายเป็นรายใหญ่ ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกว่า 45% ก็มีความเป็นไปได้ว่า ค่าบริการในระยะยาวจะแพงขึ้น 20-30% เพราะผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการใช้งาน ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้บริโภคได้บทเรียนอันบอบช้ำจากการที่หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าได้ปล่อยให้มีการควบรวมธุรกิจค้าปลีก- ค้าส่งรายใหญ่ของประเทศ จนทำให้กลุ่มทุนยักษ์ค้าปลีก-ค้าส่งของประเทศสามารถกุมอำนาจเหนือตลาดได้อย่างเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่ตันน้ำยันปลายน้ำ ทำให้ปัจจุบันประชาชนคนไทยต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤติราคาสินค้าข้าวของแพงทั้งแผ่นดิน เพราะตลาดค้าปลีก-ค้าส่งถูกผูกขาดปราศจากการแข่งขัน