นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า วันนี้ (4 พ.ค.) ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อขอให้เป็นเจ้าภาพ ในการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย เพื่อเอาผิดพระและสีกาที่เสพเมถุน อันเป็นการกระทำผิดพระธรรมวินัยขั้นปาราชิก ให้มีโทษทางอาญา
เรื่องนี้สืบเนื่องจากกรณีของ “สมีกาโตะ” และสีกาได้ออกมายอมรับว่า ได้ร่วมกันเสพเมถุนในรถบนสันเขื่อน จนกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั้งประเทศ จนทำให้พระกาโตะต้องลาสิกขาไปแล้ว กลายเป็นสมี ซึ่งต้องห้ามไม่สามารถกลับมาบวชเป็นพระได้อีกตลอดชีวิต
แต่ในทางโลกนั้น กลับไม่มีกฎหมายใดๆ ที่จะเอาผิดผู้ที่ร่วมกระทำการดังกล่าวได้ แม้จะเป็นการทำให้พระศาสนาเสื่อมเสียอย่างมหาศาล ผิดกับประเทศลาว ที่เขามีกฎหมายลงโทษผู้ที่กระทำการในทางอาญา โดยมีโทษจำคุกถึง 3 ปีได้
ส่วนประเทศไทยกลับไม่มีกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวโดยตรงเลย มีแต่ประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 4 เป็นความผิดเกี่ยวกับศาสนา (ม.206-208) แต่ก็เป็นเรื่องของการเหยียดหยามศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องของวัตถุ หรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับตัวบุคคลแต่อย่างใด
หรือการก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชนเวลาประชุมกัน นมัสการ หรือกระทำพิธีกรรมตามศาสนา และการแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวชในศาสนาใดโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นนักบวชเท่านั้น ไม่ได้มีบทบัญญัติที่จะต้องเอาผิดผู้ที่กระทำการชั่วช้าเลวทรามโดยการเสพเมถุนในขณะเป็นพระ ทำให้ศาสนาเสื่อมเสียแต่อย่างใดเลย
ส่วนเรื่องทรัพย์สินเงินทองของพระ ที่ได้มาในขณะเป็นพระภิกษุนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1623 ระบุไว้แต่เพียงว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ให้ตกเป็นสมบัติของวัด ที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น
เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้น จะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิต หรือโดยพินัยกรรม ซึ่งไม่ได้บัญญัติป้องกันมิให้อลัชชีที่แอบเข้ามาบวชเป็นพระเอาผ้าเหลืองบังหน้าหากินสร้างชื่อเสียงมีเงินทองมากมาย จนสามารถนำไปปรนเปรอบำรุงบำเรอสีกา แอบโอนให้กันเป็นหมื่นเป็นแสนได้ หรือแอบนำไปให้ญาติซื้อที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ หรือพระบางรูปเมื่อลาสิกขาแล้ว ยังสามารถขนเอาทรัพย์สินเงินทองติดตามตัวไปด้วย จนสามารถนำไปทำธุรกิจมากมาย โดยกฎหมายไม่สามารถทำอะไรได้
เพื่อเป็นการคุ้มครองพระพุทธศาสนา โดยการมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใดๆ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.67 กำหนด จึงนำกรณีดังกล่าวร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการ เพื่อใช้วิกฤติเป็นโอกาส ในการเป็นต้นเรื่องในการเร่งเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพื่อยับยั้งและป้องปรามผู้ที่กระทำการดังกล่าวเสียโดยเร็ว