สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาประจวบคีรีขันธ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคราบดังกล่าว ณ หาดบ้านกรูด ต.บ้านกรูด อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบเป็นเพียงการเกิดแพลงก์ตอนบลูม ทำให้น้ำทะเลมีสีเขียวมีกลิ่นคาวคล้ายพืชทะเลเน่าเหม็น
จากการตรวจสอบพื้นที่ชายหาดหลายๆ พื้นที่ โดยรอบ พบการเกิดแพลงก์ตอนบลูมในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน กรมเจ้าท่า ได้ทำการประสาน ศรชล.จังหวัดประจวบฯ และมีการไปตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าเป็นเพียงแพลงก์ตอนบลูม ไม่มีคราบน้ำมันปนเปื้อนแต่อย่างใด
แพลงก์ตอนบลูม เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี โดยในระยะ 3 - 5 ปี ที่ผ่านสามารถพบเห็นได้ประจำ ปีละประมาณ 2 - 3 ครั้ง
ในปี 2562 ที่ผ่านมาบริเวณชายหาดบางแสน ก็เคยประสบเหตุการณ์แพลงก์ตอนบลูม ส่งผลให้น้ำทะเลเปลี่ยนสีมาแล้วประมาณ 4 ครั้ง คือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม กรกฏาคม และสิงหาคม
การเกิดแพลงก์ตอนบลูม สาเหตุสำคัญมาจากการปล่อยน้ำเสียจากชุมชนลงสู่ทะเลจนทำให้แพลงก์ตอนได้รับสารอาหารและเกิดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และเมื่อออกซิเจนในน้ำทะเลหมดลง แพลงก์ตอนก็จะตายจนทำให้น้ำทะเลกลายสีเขียว หรืออาจเป็นช่วงที่เปลี่ยนฤดูจึงเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้น
น้ำทะเลที่เปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือแพลงก์ตอนบลูม ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ที่ลงเล่นน้ำทะเล เพียงแต่อาจทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าลงเล่นน้ำ เนื่องจากบางจุดจะมีกลิ่นเหม็นคาวรุนแรง และหวั่นว่าจะเกิดผลกระทบต่อผิวหนัง หากบางคนผิวแพ้ง่ายอาจทำให้มีผื่นคันได้
อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ดังกล่าวคาดว่าหากมีลมทะเลพัดแรงเพียง 4-7 วัน ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ