งานนี้ดูเผินๆ เหมือน "เรืองไกร" จะออกโรงเล่นงานคนปล่อยข่าวทำร้ายกลุ่มสามมิตร แต่พอ "เรืองไกร" ขยายความแนวคิดของตัวเอง กลับกลายเป็นว่าเป็นการชี้ช่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวน 3 รัฐมนตรี จากกลุ่มสามมิตร ที่ออกมาบอกว่าข่าวการทิ้งพรรคพลังประชารัฐ ไปซบพรรคเพื่อไทย เป็นข่าวลือ เพื่อหาว่าข่าวลือนั้นมาจากไหน
ซึ่งต้องไม่ลืมว่า "เรืองไกร" เข้ามาพลังประชารัฐเพราะใคร และลือกันมาตลอดว่าตอนนี้ เรืองไกร อยู่ฝั่งเดียวกับ "ผู้กองธรรมนัส" และ "วิรัช รัตนเศรษฐ" อดีตประธานวิปรัฐบาล
ขณะที่ 3 รัฐมนตรีสามมิตร คือ กลุ่ม 6 รัฐมนตรี ที่เคลื่อนไหวกดดันให้มีการปลดผู้กองธรรมนัส ออกจากเลขาธิการพรรค ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
งานนี้จึงน่าคิดว่า เรืองไกร เดินเกมเพื่อใครกัน แต่ที่แน่ๆ ไม่น่าจะเพื่อประโยชน์ของกลุ่มสามมิตร
เพื่อความกระจ่าง "ข่าวข้นคนข่าว" ขอสัมภาษณ์เรื่องนี้กับเรืองไกร โดยได้คำตอบแบบชัดเจนว่า ต้องการพุ่งเป้าไปที่กลุ่มสามมิตร
-ไม่ได้ตีกันเรื่องย้ายพรรคของกลุ่มสามมิตร เพราะเป็นสิทธิ์ที่จะย้ายได้ แต่ไม่ควรแทงกั๊ก
-เมื่อ 3 รัฐมนตรีพูดตรงกันว่ามีการปล่อยข่าว จึงจำเป็นต้องยื่นเรื่อง ป.ป.ช สอบ เช่นเดียวกับที่ยื่นเรื่องให้ไต่สวน วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่พาดพิงนายกฯ แจกกล้วย 5 ล้านบาท กลางสภาฯ
-ต้องการให้แกนนำกลุ่มสามมิตรทั้ง 3 คน ชี้แจงข้อเท็จจริง เพราะเป็นคนที่รู้ว่ามีคนปล่อยข่าว และเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับจริยธรรม จำเป็นต้องชี้แจง และให้ ป.ป.ช.พิสูจน์ มิฉะนั้นจะถูกกล่าวหาฟรีๆ แต่ประเด็นคือ การจะตรวจสอบว่าใครเป็นคนปล่อยข่าวลือ จะหาหลักฐานได้ง่ายๆ เช่นนั้นหรือ
-เรืองไกร ยังออกตัวว่า ไม่มีความสนิทสนมกับผู้กองธรรมนัส ตามที่มีคนมอง เพราะตั้งแต่สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้เจอกับ "บิ๊กป้อม" เพียงแค่ครั้งเดียว ส่วนผู้กอง อาจารย์แหม่ม ก็เจอกันตามห้องประชุมกรรมาธิการงบประมาณ แต่ยอมรับว่าใกล้ชิดกับ วิรัช รัตนเศรษฐ มากกว่า เพราะเป็นคนชักชวนให้มาร่วมงานกับพลังประชารัฐ
-บทบาทปัจจุบันในพลังประชารัฐ คือ ช่วยดูประเด็นข้อกฎหมายในการต่อสู้คดี
"เรืองไกร"กับการเมืองกลับไป -กลับมา
หากมาย้อนดูเส้นทางชีวิตการเมือง สำหรับ "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" เชื่อว่า หลายคนต้องนึกถึงบทบาทภาพลักษณ์ นักร้องขาประจำ คอยเดินสายยื่นเรื่องร้องเรียนตรวจสอบ โดยเฉพาะบุคคลสำคัญๆ
ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" เป็นใครมาจากไหน และทำอะไรมาบ้าง ก่อนจะเป็นที่รู้จักทุกวันนี้
เมื่อย้อนกลับไปยังจุดให้เริ่ม "เรืองไกร" เข้าเป็นสมาชิกวุฒิสภาสรรหา ตามรัฐธรรมนูญ 2550 โดยสังกัดอยู่ในกลุ่ม 40 ส.ว. และฝากผลงานชิ้นสำคัญ คือ การยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. และ กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติ "สมัคร สุนทรเวช" อดีตนายกฯ สมัยรัฐบาลพลังประชาชน เมื่อปี 2551
จากกรณีจัดรายการอาหาร "ชิมไปบ่นไป" ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2551 ให้สมัคร พ้นจากความเป็นนายกฯ เนื่องด้วยความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 267 และทำให้เรืองไกร ได้ฉายาครั้งนั้นว่าเป็น "แจ็คผู้ฆ่ายักษ์"
จากบทบาทตอนนั้นเรืองไกร จึงกลายเป็นหอกข้างแคร่ ต่อพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทยเวลานี้ แต่การเมืองไทยตามสูตร "ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร"
เพราะใครเลยจะคิดว่าวันหนึ่งเรืองไกร คนเคยเป็นเสี้ยนหนาม จะกระโดดเข้ามาสวมเสื้อพรรคเพื่อไทย อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนย้ายไปร่วมงานการเมืองกับไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. ช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2562
ทว่า ก็มีอุบัติเหตุทางการเมืองให้กับ ทษช. จากกรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ทำให้ไทยรักษาชาติถูกยุบก่อนการเลือกตั้ง
ชีวิตเรืองไกร หากเปรียบให้รับกับโลกยุค 4จี ก็คงไม่ต่างจากผู้ใช้บริการสัญญาณมือถือ หากไม่พอใจผู้ให้บริการ ก็สามารถเลือกโปร ย้ายค่าย ได้ตลอดเวลา
หลังจากพรรคไทยรักษาชาติถูกลงทัณฑ์ เรืองไกรก็กลับมาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอีกครั้งหนึ่ง และนั่งในกมธ.วิสามัญพิจารณางบประมาณปี 63
การกลับมาร่วมงานเพื่อไทยคราวนี้ เรืองไกร ยังเดินเครื่องยื่นตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ กรณีอาศัยบ้านพักในค่ายทหาร พร้อมทั้งยื่นสอบ พล.อ.ประวิตร กรณีนาฬิกาหรู และ พล.อ.อนุพงศ์ กรณีไม่แจงทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ในรายการยานหาพนะว่ามีจักรยาน 2 คัน
กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อเรืองไกร เกิดปัญหากับนักรบห้องแอร์ของเพื่อไทย หลังถูกต่อสายตรงให้หลีกทางพ้น กมธ.งบประมาณปี 64 จนเวลาต่อมา เรืองไกร ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค พร้อมทวงถามเหตุผล
จากมิตร จึงผันเปลี่ยนเป็นปรปักษ์ เมื่อพลาดจากการนั่ง กมธ.งบ 64 ในโควตาเพื่อไทย ก็เดินสายยื่นเรื่องตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็น สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าเพื่อไทยเวลานั้น และ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เนื่องจากเป็นชื่อถูกส่งเข้าไปแทนที่ตัวเอง ในกมธ.งบประมาณปี 64
แต่ดูประเด็นสุด คือ การที่เรืองไกร ยื่นเรื่องตรวจสอบ "ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร" รองหัวหน้าพรรค กรณีนาฬิกา และเรื่องที่ดิน ซึ่งครั้งหนึ่ง ที่ยุทธพงศ์ แถลงข่าวประเด็นนาฬิกา เรืองไกร ยังมาติดตามเฝ้าสังเกตการณ์ถึงที่ทำการพรรค ก่อนที่ทั้งคู่จะกลายเป็นไม้เบื่อ ไม้เมา อย่างถาวร
ทว่า ในการพิจารณางบประมาณปี 65 นับเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์อีกครั้ง เพราะมีชื่อ เรืองไกร ไปปรากฏในสัดส่วนพรรคพลังประชารัฐ
ก่อนถูกเสียงวิจารณ์ตามมาเป็นเงา เพราะหลังจากเข้าทำหน้าที่ ก็มีการโพสต์โชว์ภาพเบนซ์หรู ป้ายแดง ได้รับจากผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่ง