วันนี้ (26 พ.ย.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา เพื่อการขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทย ที่จัดโดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระห่างการศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตความเค็มตามปริมาณโซเดียม โดยมาตรการภาษีสรรพสามิตเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนให้ประชาชน และผู้ประกอบอุตสาหกรรมลดการบริโภค และลดการผลิตสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมสูง ร่วมกับการใช้มาตรการอื่นที่ไม่ใช่ภาษี
มีเป้าหมายให้การบริโภคโซเดียมของคนไทยในแต่ละวันให้น้อยกว่า 20% ต่อคนต่อวัน หรือเหลือ 2,800 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน จากอัตราการบริโภคของคนไทยในปัจจุบันที่ 3,600 มิลลิกรัม ต่อคนต่อวัน และมีเป้าหมายให้ลดต่ำกว่า 2,000 มิลลิกรัม ต่อคนต่อวัน
“ปัจจุบันคนไทยเป็นเบาหวาน ความดัน ไตวายเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมาจากการบริโภคหวาน มัน เค็ม ที่ผ่านมาคลังได้มีการจัดเก็บภาษีความหวานไปแล้ว และได้ผลดี ต่อไปจึงเป็นภาษีจากความเค็ม ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากโรคเรื้อรังส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียค่าใช้จ่าย และโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนจะเริ่มจัดเก็บภาษีจากความเค็มได้เมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีจากความเค็มนั้น ต้องไปดูว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างไร โดยอาจจะต้องใช้เวลา เพราะต้องมีการหารืออย่างรอบคอบกับผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อาหาร
นายอาคม กล่าวต่อว่า สำหรับภาษีจากความเค็ม จะจัดเก็บทั้งจากอาหารสำเร็จรูป และอาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว รวมถึงเครื่องปรุงอาหารทั้งหมด เช่น ผงชูรส น้ำปลา เกลือ ผงปรุงรส เป็นต้น โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยดูแล ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ขณะที่ร้านอาหาร ภัตตาคาร ก็ต้องมีองค์การอาหารและยา (อย.) เข้ามาช่วยดูคุณภาพ โดยจะใช้ระบบเดียวกับภาษีความหวานที่ต้องมีการวัดปริมาณที่ชัดเจน