จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่า รายงานการสำรวจเมื่อปี 63 มีการพบฉลามวาฬบริเวณเกาะเต่าถึง 280 ตัว ล่าสุด วันนี้ (1 พ.ย.) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” ระบุว่า คงต้องอธิบายเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ฉลามวาฬที่เกาะเต่าไม่ได้มี 280 ตัว ข้อมูลจากรายงานของกรมทะเล ฉบับเป็นทางการ ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของประเทศ และผ่านกรรมการทะเลชาติ ระบุว่าในปี 63 ทั้งประเทศพบ 86 ตัว แน่นอนว่าแต่ละปีอาจพบมากพบน้อย
แต่ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ไม่มีปีไหนที่พบเกิน 100 ตัว เน้นย้ำคำว่าทั้งประเทศ รวมฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน พื้นที่พบบ่อย 5 อันดับแรกในช่วง 5 ปี คือริเชลิว หินม่วงหินแดง หินแปดไมล์ เกาะเต่า และชุมพร (ไม่เรียงลำดับ เปลี่ยนไปมาในแต่ละปี) บางปีก็มีที่อื่นแทรกเข้ามาบ้าง เช่น โลซิน พังงา (ปีที่แล้วเจอเยอะ) เพราะฉะนั้น เกาะเต่าคงไม่มีฉลามวาฬ 280 ตัวอย่างแน่นอน คาดว่าอาจเข้าใจผิด น่าจะเป็นการพบเห็น 280 ครั้ง อย่างไม่เป็นทางการ ในปี 63 “ครั้ง” กับ “ตัว” แตกต่างกัน
ฉลามวาฬตัวเดียว ว่ายวนไปมา นักดำน้ำมาเรือแต่ละลำ อาจเจอฉลามวาฬตัวเดียวกันตรงนั้นตรงนี้ ตัวเดียวจึงเจอได้หลายครั้งเท่าที่ทราบ ในโลกไม่เคยมีรายงานว่ามีฉลามวาฬอยู่รวมกัน 280 ตัวในพื้นที่เล็ก ๆ ฉลามวาฬไม่หากินเป็นฝูง เราอาจเจอ 4-5 ตัวพร้อมกัน จากนั้นก็แยกย้ายกันไป มีบางแห่งในพื้นที่ห่างไกลในโลก (ไม่ใช่ไทย) รายงานพบฉลามวาฬมารวมกันเพื่อผสมพันธุ์ แต่เป็นแค่ชั่วครั้งชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม เกาะเต่ายังเป็นสถานที่พบเจอฉลามวาฬได้บ่อยครั้ง เป็นลำดับต้นๆ ของทะเลไทย จึงบอกเพื่อนธรณ์ไว้ป้องกันเข้าใจผิด เพราะตอนนี้ก็เริ่มมีน้องๆ สื่อมวลชนโทรมาถาม อาจารย์คิดยังไงกับช่วงทะเลสงบ ฉลามวาฬที่เกาะเต่าเพิ่มจำนวน จนมีถึง 280 ตัว ทะเลสงบเป็นเรื่องดี แต่ธรรมชาติไม่ฟื้นฟูเร็วขนาดนั้น และทุกทะเลในโลกย่อมมีขีดจำกัดของจำนวนสัตว์ตามธรรมชาติครับ