svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

องค์การสวนสัตว์ แจงดราม่า "ช้างในห้อง" ชี้ช้างเป็นสัตว์ชอบเล่นน้ำ

หลังเกิดประเด็นภาพ Elephant in the room ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ Wildlife Photographer of the year โดย Adam Oswell ช่างภาพชาวออสเตรเลีย เป็นภาพของช้างที่จัดแสดงโชว์ใต้น้ำในสวนสัตว์แห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยรายละเอียดภาพได้เผยความกังวลถึงสวัสดิภาพของสัตว์จากการแสดงโชว์

19 ตุลาคม 2564 กรณีประเด็นดรามาหลังจากเกิดประเด็นภาพ "Elephant in the Room" ช้างในห้องของ Adam Oswell ช่างภาพชาวออสเตรเลีย ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขา "Photojournalism" จากงานประกวดภาพ Wildlife Photographer of the Year Awards 2021 จัดโดย Natural Historical Museum London สหราชอาณาจักร โดยรายละเอียดภาพได้เผยถึงความกังวลต่อสวัสดิภาพของสัตว์จากการแสดงโชว์

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า "ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย และมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ (endangered) เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่นบุกรุกป่า ล่าสัตว์"

ดังนั้น สวนสัตว์เป็นแหล่งพึ่งพิงของช้าง ด้วยการดูแลช้างไม่ให้สูญพันธุ์และถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชน ให้เกิดความตระหนัก ความหวงแหนทรัพยากรสัตว์ป่า

ภาพ Elephant in the room "ช้างในห้อง" โดย Adam Oswell

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ภายใต้สมาชิกสมาคมสวนสัตว์โลก มีการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ตามหลักมาตรฐานสากล 5 Domains คือ ด้านโภชนาการ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม พฤติกรรม และจิตใจ มีการประเมินด้านสวัสดิภาพสัตว์โดยพนักงานสวนสัตว์ สัตวแพทย์ทุกวัน และมีหน่วยงานภายนอกมาร่วมประเมินทั้งคณะกรรมการด้านสวัสดิภาพสัตว์ของ WAZA และ SEAZA รับรองมาตรฐาน 

ส่วนคำถามที่ว่าทำไมสวนสัตว์ ต้องให้ดูช้างผ่านห้องกระจก องค์การสวนสัตว์ฯ ชี้แจงว่า "จับช้างมาใส่ตู้" น่าจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะความเป็นจริงสวนสัตว์จัดพื้นที่กว้างขวางเพียงพอให้สัตว์ได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ พร้อมควาญช้างคอยดูแลให้ช้างได้เดินออกกำลังกาย ทำให้สัตว์ไม่เครียด และบ่อน้ำให้ช้างได้ลงเล่นน้ำ การลงเล่นน้ำเป็นธรรมชาติของช้าง ช้างสามารถลอยตัวในน้ำและหายใจด้วยงวง ช้างสามารถว่ายน้ำได้ไกล การลงอาบน้ำยังช่วยกำจัดแมลง สิ่งสกปรกบนตัวช้าง ให้ผิวหนังมีสุขภาพดีด้วย

ภาพ : องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

วัตถุประสงค์ของการทีให้นักท่องเที่ยวได้เห็นพฤติกรรมช้างผ่านตู้กระจกนั้น คือจะได้เรียนรู้พฤติกรรมช้างขณะว่ายน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องพิเศษหาดูได้ยาก โดยเฉพาะเด็กๆ จะได้เรียนรู้การเคลื่อนไหว การว่ายน้ำของช้างอย่างใกล้ชิด โดยมีวิทยากรเล่าเรื่องราวชีวิต พฤติกรรม ชีววิทยาของช้างควบคู่ไปด้วย ทำให้เด็กๆ เกิดความรักและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ครอบครัว ร่วมกันอนุรักษ์ช้างไทย

ภาพจาก องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ช้างที่ลงเล่นน้ำให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้นั้นได้รับการฝึกในเชิงบวก (positive reinforcement) คือ การให้รางวัลเมื่อแสดงพฤติกรรมได้ถูกต้อง ซึ่งนิยมใช้อาหารเป็นรางวัล ไม่ลงโทษให้สัตว์ทรมาน ที่ต้องฝึกในช่วงแรกเพราะช้างยังไม่คุ้นชินกับสถานที่ จึงให้ควาญพาช้างลงน้ำ ปัจจุบันช้างซึ่งเป็นสัตว์แสนรู้ สามารถเลือกลงน้ำได้เอง ไม่มีใครบังคับ นี่คือการให้ทางเลือกกับสัตว์

"เราใส่ใจถึงความเครียดที่อาจเกิดขึ้น นักวิทยาศาสตร์จึงไขคำตอบให้โดยการสังเกตพฤติกรรมของช้าง ร่วมกับการตรวจฮอร์โมนความเครียด (cortisol) ซึ่งพบว่าการที่ช้างได้ออกกำลังกาย เล่นน้ำ ส่งผลดีต่อตัวสัตว์ ช้างที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะมีระดับความเครียดปกติ แน่นอนหากเกิดความผิดปกติกับช้าง พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ควาญช้างผู้รู้ใจจะต้องรีบแจ้งให้ทางสัตวแพทย์เข้ามาดูแลอย่างทันที"

รักช้าง ต้องเข้าใจ และถ่ายทอดความรู้สู่สังคม ​การเลี้ยงช้างอยู่คู่บ้านเรามายาวนานตามประเพณีแต่ละภูมิภาค ในฐานะคนไทยเราต้องเข้าใจให้ชัดเจน มาตรฐานการพัฒนาด้านต่างๆ สำหรับการเลี้ยงช้าง เรากำลังพัฒนา ยกระดับยิ่งขึ้นไป ในสังคมต่างชาติอาจไม่เข้าใจในวัฒนธรรมพื้นฐาน รวมทั้ง การแสดงภาพสื่อออกมาเพียงบางส่วนและอธิบายไม่เป็นพื้นฐานความจริง การช่วยกันดูแลเรื่องสวัสดิภาพสัตว์เป็นเรื่องที่ดี หากต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ มีข้อมูลที่ถูกต้อง  ไม่ให้ถูกโจมตี เหมือนกรณีต่างชาติแบนกะทิไทยเพราะใช้ลิงเก็บมะพร้าว หากท่านได้อ่านข้อความนี้แล้วขอให้ช่วยกันให้ความรู้ที่ถูกต้อง สื่อสารออกไปในวงกว้าง “สวนสัตว์เราช่วยดูแลช้าง ทรัพยากรสัตว์ป่าที่รักของคนไทย ขอให้ทุกคนช่วยกันปกป้องชื่อเสียงของชาติไทยด้วย

ภาพ : สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ด้านสำนักอนุรักษ์และวิจัย องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้เผยในประเด็น "ช้างนักว่ายน้ำร่างใหญ่" ในวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ว่า "ช้างว่ายน้ำได้จริงหรือ ?"  เมื่อพูดถึงช้าง แน่นอนว่าเราต้องนึกถึงสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ ทั้งขนาดและน้ำหนักตัว ทำให้หลายคนคิดว่าน่าจะมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เพราะอาจจะกลัวจมน้ำ แต่จริงๆ แล้ว ช้างชอบน้ำและเป็นนักว่ายน้ำที่เก่งมาก และนี้คือ 5 ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับช้างว่ายน้ำ

1. นักว่ายน้ำโดยกำเนิด ลูกช้างเมื่ออายุ 4-5 เดือน จะมีทักษะการว่ายน้ำได้ดี เนื่องจากธรรมชาติของฝูงช้างจะมีการเดินค้นหาแหล่งน้ำและอาหาร ช้างเดินได้ไกลถึง 80 ไมล์ (128 กิโลเมตร) ในหนึ่งวัน รวมถึงสามารถว่ายน้ำได้เป็นระยะทางหลายไมล์ เคยมีรายงานว่าช้างแอฟริกาว่ายน้ำได้ถึง 48 กิโลเมตรภายใน 6 ชั่วโมงแบบต่อเนื่อง เรียกว่าเป็นนักว่ายน้ำทีอึดและทรหดมากที่เดียว


2. ทักษะลอยตัวบนผิวน้ำ ช้างจะว่ายน้ำโดยที่หัวอยู่เหนือน้ำแต่ปากอยู่ใต้น้ำ และใช้งวงช่วยหายใจ น้องช้างของพวกเราจึงสามารถอยู่ใต้น้ำได้นาน นอกจากนี้ยังใช้ขาเป็นเหมือนใบพายที่ช่วยพลักร่างกายให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า


3. นิสัยชอบเล่นน้ำ เชื่อกันว่านิสัยของช้างนั้นถูกปลูกฝังมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยมีความเชื่อมโยงทางวิวัฒนาการใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่คล้ายกับวัวทะเล ทำให้ช้างสืบทอดนิสัยชอบน้ำมานาน


4. นักดำน้ำ ด้วยความสามารถของงวงช้าง เป็นเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้ช้างดำน้ำและอยู่ในน้ำได้นาน โดยที่ช้างสามารถดำน้ำลงไปถึงก้นสระได้ รวมถึงการใช้งวงในการสูบโคลน หรือพ่นน้ำให้ทั่วร่างกาย เพื่อลดความร้อนจากร่างกาย นอกจากนี้การลงอาบน้ำยังช่วยกำจัดแมลง สิ่งสกปรกบนตัวช้างด้วย

องค์การสวนสัตว์ แจงดราม่า \"ช้างในห้อง\" ชี้ช้างเป็นสัตว์ชอบเล่นน้ำ