20 กันยายน 2564 พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (20ก.ย.) พล.อ.ประวิตร ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 2/2564 โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้า แผนการติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ซึ่งจะเปิดให้บริการเดือน ต.ค. 2564 จำนวน 4 ด่าน คือ ด่านทับช้าง1,2 และ ด่านธัญบุรี1,2 และได้มีการพิจารณาเห็นชอบ เรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบคมนาคม และการแก้ไขปัญหาการขนส่ง การจราจรทางบกได้แก่แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ กลุ่มจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
สำหรับรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อขับเคลื่อนโครงการไปสู่การปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ EEC และเห็นชอบโครงการศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟ ร่วมกับ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorways-Railways Masterplan : MR-Map) ซึ่งได้มีการจัดทำร่างโครงข่ายเส้นทางเบื้องต้น จำนวน 10 เส้นทาง มีระยะทางรวม 6,540 ก.ม.โดยจัดทำเป็นโครงการนำร่อง 4 เส้นทาง ได้แก่
1.เส้นทาง กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) - อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) 2.เส้นทาง ชุมพร-ระนอง 3.เส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง และ 4.เส้นทางวงแหวนรอบนอก กทม.รอบที่ 3 ซึ่งจะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย และเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนต่อไป
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ โครงการระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง (สถานีรังสิต) จ.ปทุมธานี โดยมีรูปแบบการเดินรถที่สอดคล้องกับระบบรถไฟฟ้า (on Schedule services) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้บริการได้กับประชาชนทุกคน รวมถึงผู้พิการ ด้วย
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร ยังได้เน้นย้ำ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง และต้องเร่งรัดแผนงาน โครงการให้รวดเร็ว สามารถรองรับการบริการประชาชนได้ อย่างทั่วถึง ทั้งการขนส่ง และการจราจร เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม ของประเทศ ให้ก้าวหน้าอย่างไม่มีขีดจำกัดในอนาคตต่อไป