6 กันยายน 2564 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาฉลากสิ่งแวดล้อมและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมประเภทรับรองตนเอง” รูปแบบออนไลน์ ผลักดันผู้ผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้ได้รับการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอสินค้าของตนเองแก่ผู้บริโภค หวังสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอย่างยั่งยืน ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในระดับประเทศ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่เป็นพันธมิตรหลักในการร่วมงานมาโดยตลอด โดยการสนับสนุนทั้งทางด้านเทคนิค และงบประมาณ ซึ่งผลงานที่ร่วมกันพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การร่วมกันพัฒนา Green Card Application ที่เป็นเครื่องมือในการให้ข้อมูลสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสะสมคะแนนจากการซื้อสินค้า Eco–Product เกิดการกระตุ้นการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประชาชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งการพัฒนา Green Card Application นั้น เป็นการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านหนึ่งของ ส.อ.ท. คือ ยุทธศาสตร์ด้าน Demand ซึ่งได้แก่การส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และในวันนี้ ถือเป็นอีกความร่วมมือหนึ่ง โดยเป็นก้าวที่สำคัญของทั้ง 2 ฝ่ายในการร่วมกันสร้างมาตรฐานและระบบอำนวยความสำดวกในการขึ้นทะเบียนฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทรับรองตนเอง ซึ่งเป็นอีกกลไกที่สำคัญในการส่งเสริมการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อกระตุ้นยุทธศาสตร์ด้าน Supply ซึ่งทำให้ผู้ผลิตโดยเฉพาะผู้ผลิตกลุ่ม SMEs ได้ปรับเปลี่ยนการผลิตตั้งแต่การออกแบบ จัดหาวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อการประกอบกิจการที่ยั่งยืน และสนองต่อยุทธศาสตร์และนโยบายต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป้าหมายการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน รวมทั้งการสร้าง Green Supply Chain เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการอีกด้วย
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้สินค้าประเภท Eco–Products มีประเภทและปริมาณเพิ่มมากขึ้น จนเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ซึ่งเป็นผู้นำในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญรัฐควรมีมาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนได้รับการลดหย่อนภาษี 200% จากการผลิตและซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญให้ผู้ผลิตและผู้บริโภค ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป โดยการดำเนินงานของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ เป็นความร่วมมือในการผลักดันและสนับสนุนการพัฒนาแนวทางการแสดงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของสินค้าและบริการและจัดทำระบบรับรองการรายงานการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมด้วยตนเองตามระบบมาตรฐาน ISO 14021 Environmental labels and declarations - Self-declared environmental claims ให้มีความทันสมัย ชัดเจน เหมาะกับกลุ่มผลิตภัณฑ์ มีการพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนสินค้าและการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการในการยื่นขึ้นทะเบียนสินค้าและบริการ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อมูลและเอกสารในการขึ้นทะเบียนสินค้าและบริการ มีการพัฒนาและเสริมศักยภาพผู้ประกอบการและผู้สนใจขอขึ้นทะเบียนสินค้าและบริการ เช่น การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดฉลากสิ่งแวดล้อม จัดทำรายงานข้อมูลและเอกสารต่างๆ ส่งเสริมสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการที่ขอรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทนี้ ร่วมกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งแบบออฟไลน์ และออนไลน์ รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกัน
นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ประเทศด้านการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน หรือ SCP Roadmap พ.ศ. 2560 – 2580 มุ่งเน้นกสนบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวบนพื้นฐานการสร้างความสมดุลของการพัฒนาทั้ง 3 มิติ คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งมุ่งเน้นหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy มาปรับใช้ เกิดการใช้ทรัพยากรสูงสุด พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกและความตระหนักรู้ของประชาชนทั่วไป รวมถึงการส่งเสริมช่องทางในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่าน Green Card Application และช่องทางการตลาดออนไลน์ หรือ Green Market Place ซึ่งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนในการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย ได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างนโยบายของภาครัฐ ไปสู่ผู้ประกอบการต่างๆ ที่เป็นสมาชิกเครือข่าย ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถขอรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทรับรองตนเอง ส่งเสริมตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง ได้นำเสนอสินค้าของตนเองแก่ผู้บริโภค เป็นแรงจูงใจในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้สะดวก ราคาไม่แพง เป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญกับการขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน จึงเกิดความร่วมมือในการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ฉบับนี้ เพื่อร่วมกันผลักดันและสนับสนุนการพัฒนาแนวทางการแสดงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของสินค้าและบริการต่อไป
นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย-งานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน กล่าวเสริมว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะร่วมกันผลักดันและสนับสนุนการพัฒนาแนวทางการแสดงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของสินค้าและบริการและจัดทำระบบรับรองการรายงานการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมด้วยตนเองตามแนวทางมาตรฐาน ISO 14021 Environmental labels and declarations - Self-declared environmental claims ให้สามารถประยุกต์ใช้ได้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ในทุกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม โดยในการทำงานจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาข้อมูลและเอกสารในการขึ้นทะเบียนสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับสากล มีการพัฒนาฟอร์มออนไลน์ในการยื่นขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และที่สำคัญทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้สินค้ากลุ่มนี้เป็นที่รู้จักในตลาดและผลักดันเข้าสู่บัญชีการจัดซื้อจัดจ้าง สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐและเอกชน (Green Public Procurement) เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตผลิตสินค้าและขึ้นทะเบียนสินค้ากลุ่มนี้ให้มากขึ้น