วันที่ 2 กันยายน 2564 นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในการระบาดระลอกใหม่ เดือนเมษายน 2564 ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ของวันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมาว่า มีผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด 82 ราย พบเชื้อ 12 รายเป็นผู้ป่วยในจังหวัดทั้งหมด
โดยผู้ป่วยทั้ง 12 ราย เป็นข้าราชการครูในพื้นที่ อำเภอสบเมย และสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาใน อำเภอแม่สะเรียง รวมไปถึงผู้ใกล้ชิด ก่อนหน้าจะพบว่ามีการติดเชื้อ กลุ่มครูศึกษานิเทศน์ ได้เดินทางไปนิเทศงานที่โรงเรียนบ้านสบเมยและบ้านบุญเลอ ช่วงระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2564 โดยผู้ที่ติดเชื้อคิดว่าตนเองติดเชื้อในจุดที่เดินทางไปนิเทศงาน ขณะที่คนทั่วไป อ่านไทม์ไลน์แล้ว มีข้อสงสัยว่าเหตุใดพบเชื้อรวดเร็วและเชื่อว่าตนเองติดที่ โรงเรียนบ้านสบเมย และบ้านบุญเลอ ทั้งที่การติดเชื้อส่วนใหญ่จะใช้ระยะฟักตัวของไวรัสนานมากกว่านั้นแล้วเหตุใดไม่ยอมแจ้งไทม์ไลน์ก่อนหน้านั้น ทำให้เกิดกระแสดรามาในสื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจากคนที่อ่านไทม์ไลน์ต้องการทราบว่าก่อนหน้านั้นไปที่ไหนบ้าง จะได้ตระหนักและหาทางป้องกันตัวเองไม่ไปในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
สรุปสถานการณ์ปัจจุบัน ณ วันที่ 1 กันยายน 2564 จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในจังหวัด ระลอกเดือนเมษายน จำนวน 294 ราย เป็นเพศชาย 161 ราย (55%) เพศหญิง 133 ราย (45%) เสียชีวิต 3ราย(1%) รักษาหายแล้ว 244ราย(83%)ยังอยู่ระหว่างรักษา 47ราย(16%) รักษาอยู่ที่ โรงพยาบาลศรีสังวาลย์5 ราย โรงพยาบาลแม่สะเรียง 21 ราย โรงพยาบาลปาย 6 ราย CI ห้วยมะโอ 1 ราย และโรงพยาบาลสนาม 14 ราย
นายเอกชัย คำลือ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยถึงอาการของผู้ป่วยที่ยังอยู่ระหว่างการรักษาทั้ง 47 ราย ว่า เป็นผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย 38 ราย ปานกลาง 6 ราย และรุนแรง 3 ราย โดยผู้ป่วยที่พบในการระบาดรอบนี้มักมีภาวะปอดอักเสบราว 30-40% และผู้ป่วยที่เสียชีวิตมากกว่า 90 %เป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่กลุ่มคนเหล่านี้จะไม่ได้ทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือไม่เคยเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงมาก่อน แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อเกิดจากบุคคลในครอบครัว
สำหรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคกรณีพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนในครั้งนี้ ได้มีการสั่งห้ามไม่ให้มีการเดินทาง เข้า-ออก ในหมู่บ้านสบเมย , บ้านพะละอึ , บ้านพะคุยแฮ , บ้านโกหง่อคี , บ้านปู่ทา , บ้านกลอเซโล , บ้านบุญเลอร์หลวง-น้อย และ บ้านโตแฮ ซึ่งมีเด็กนักเรียนเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีครูป่วย โดยส่งทีมควบคุมโรคออกตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหา ผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมในหมู่บ้านดังกล่าว ทำลายเชื้อในโรงเรียนและในหมู่บ้านสบเมย รณรงค์ให้สุขศึกษา แจกหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียงมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
นายทศพล ดิษฐ์ศิริ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวถึงความคืบหน้าของการควบคุมโรคคลัสเตอร์ หมู่บ้านห้วยมะโอ หมู่ 2 ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย ว่าทีมสอบสวนควบคุมโรคได้ตรวจคัดกรองเชิงรุก ด้วยชุดตรวจ Rapid antigen test ซ้ำอีกครั้ง เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 จำนวน 155 ราย ผลเป็นบวก 12 ราย ทั้งหมดไม่มีอาการป่วย ให้รักษาโดยการแยกกักตัวที่บ้าน ( Home Isolation : HI) รวมผู้ป่วยที่พบในการระบาดคลัสเตอร์นี้ ทั้งหมด 30 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยัน 11 ราย และเป็นผู้ป่วยเข้าข่าย (มีผล Rapid antigen Positive) 19 ราย
ในวันเดียวกัน ทางโรงพยาบาลศรีสังวาลแม่ฮ่องสอน ได้รายงานผลการตรวจพบเชื้อโรคโควิด-19 ของเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์แม่ฮ่องสอน โดยผู้ป่วยให้ประวัติว่า เมื่อวันที่23 สิงหาคม 2564 เดินทางโดยรถยนต์ไปรษณีย์ไปนิเทศงานที่ไปรษณีย์อำเภอแม่สะเรียง (ไป-กลับ) รับประทานข้าวที่ร้านข้าวมันไก่ ข้างธ.ก.ส. และร้านกาแฟพะมะลอ วันที่ 24 – 26 สิงหาคม 2564 ทำงานที่ไปรษณีย์อำเภอเมือง รับประทานข้าวที่บ้านพัก วันที่ 27 สิงหาคม 2564 ติดตามการขนส่งกระเทียมที่บริษัท Flash บ้านนาปลาจาด ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และทำงานที่ไปรษณีย์อำเภอเมือง รับประทานข้าวที่บ้านพัก วันที่ 28 สิงหาคม 2564 อยู่บ้านพักและรับประทานก๋วยเตี๋ยวที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเมืองปอน วันที่ 29 สิงหาคม 2564 อยู่บ้านพักและรับประทานข้าวที่ร้านอาหารพอเพียง และร้านกาแฟห้วยห้อม วันที่ 30 สิงหาคม 2564 อยู่บ้านพักตลอด วันที่ 31 สิงหาคม 2564 รับประทานข้าวที่ร้านอาหารพอเพียงและมารับบริการตามนัดผ่าตัดตาต้อกระจกที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์
อย่างไรก็ตาม กรณีเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ดังกล่าว ไม่ได้มีการนำไปรวมกับเคสคลัสเตอร์ครู ทั้งที่มีการแถลงข่าวของจังหวัดในวันเดียวกัน ล่าสุดจากการดำเนินการสอบสวนโรค และค้นหาผู้สัมผัสเพิ่มเติมในพื้นที่ จากการสอบสวนโรคมีผู้สัมผัสทั้งหมด 62 ราย โดยแยกเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จำนวน 7 ราย ได้แก่ ภรรยา เพื่อนร่วมงานที่ทำงานห้องเดียวกัน จำนวน 4 ราย และบุคลากรสาธารณสุข จำนวน 2 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ จำนวน 55 ราย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ จำนวน 32 ราย บุคลากรสาธารณสุข จำนวน 12 ราย ผู้ป่วยที่มารับบริการที่ห้องตรวจตา จำนวน 5 ราย ผู้ป่วยที่ตึกผู้ป่วยศัลยกรรมชาย จำนวน 6 ราย และได้มีการดำเนินการค้นหาผู้สัมผัสเชิงรุก ณ ที่ทำการไปรษณีย์อำเภอเมือง จำนวน 36 ราย โดยวิธี Antigen Test Kit (ATK)ซึ่งอยู่ระหว่างรอผลตรวจ
โดย ทศพล บุญพัฒน์ / แม่ฮ่องสอน