24 สิงหาคม 2564 วัคซีนโควิด-19 ล่าช้า เป็นสาเหตุใหญ่ ที่ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ควบคุมได้ยากขึ้น รัฐบาลไม่สามารถเอาอยู่ แม้จะสั่งซื้อวัคซีนหลายยี่ห้อ ใช้งบการจัดซื้อพุ่งไปกว่าหลายหมื่นล้านบาท แต่ก็เหมือนในประเทศไทยมีเพียงวัคซีน 2 ยี่ห้อหลัก คือ “ซิโนแวค” กับ “แอสตร้าแซนเนก้า”
ในขณะที่ตัวเลข ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันอังคารที่ 24 ส.ค. 2564 (ข้อมูลนับจาก วันที่ 1 เม.ย.64)
- ผู้ป่วยรายใหม่ 17,165 ราย
- หายป่วยแล้ว 854,403 ราย
- ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,055,088 ราย
- เสียชีวิตสะสม 9,694 ราย
การรับวัคซีนของประชาชน (28 ก.พ.-23 ส.ค. 64) สะสมทั้งหมด จำนวน 27,612,445 โดส
ล่าสุด 23 ส.ค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ร่วมหารือกับ นายปาสคาล โซริออต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ถึงความร่วมมือและความพยายามในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประเทศไทย เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งยังมีการพูดคุยกันถึงการเร่งจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อให้สามารถส่งมอบวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดส ให้แก่ประเทศไทยได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยแอสตร้าเซนเนก้ายังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับกรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน
นอกจากนี้ ยังมีการหารือเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับปี 2565 ให้กับประเทศไทย ซึ่งรวมถึงวัคซีนรุ่นใหม่ของแอสตร้าเซนเนก้า อย่าง AZD2816 คาดว่าสั่งซื้ออีก 60 ล้านโดส มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้วัคซีนอยู่ในระหว่างการพัฒนา
รัฐบาลไทยมีแผนสั่งซื้อแอสตร้าเพิ่มอีก 60 ล้านโดสสำหรับปี 2565 พร้อมวางเงินมัดจำ ข้อตกลงดังกล่าวจะสรุปได้ภายในเดือน ก.ย.นี้
ทำให้ยอดวัคซีนแอสตร้าทั้งเก่าและใหม่อยู่ที่ 121 ล้านโดส คิดเป็นเงิน 26,970 ล้านบาท ระยะเวลา 2 ปี
แบ่งเป็นปี 64 จำนวน 61 ล้านโดสๆ ละ 5 ดอลลาร์ รวม 9,150 ล้านบาท (ดอลลาร์ละ 30 บาท) และปี 65 จำนวน 60 ล้านโดสๆ ละ 9 ดอลลาร์ รวม 17,820 ล้านบาท (ดอลลาร์ละ 33 บาท)
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีเป้าจัดหาวัคซีนทุกประเภทในสิ้นปีนี้ รวมกันเกิน 120 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรกว่า 60 ล้านคน ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่ตั้งเป้าจะจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส สำหรับประชากร 50 ล้านคน
ถึงตอนนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งปรับแผนการจัดหาวัคซีนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งประเภท และปริมาณของวัคซีน และระยะเวลาที่คาดว่าจะได้รับมอบวัคซีนในช่วงที่เหลือของปี 2564 และในช่วงปี 2565 เพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนได้ประสิทธิภาพสูงสุด และไม่มีปัญหาการเข้าถึงวัคซีนเหมือนที่ผ่านมา ความหวังของไทย คือ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประชาชนได้อย่างน้อย 70% ภายในปี 2564
เปิดไทม์ไลน์วัคซีนในไทย
"กรุงเทพธุรกิจ" รายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข มีแผนที่จะฉีดวัคซีนให้ประชากรที่อยู่ในประเทศไทย 70% ภายในปี 2564 ซึ่งมีการเสนอแผนการจัดหาวัคซีน 168 ล้านโดส โดยมีระยะเวลาการส่งมอบตั้งแต่เดือน ก.พ.2564-มี.ค.2565 แบ่งการจัดหาเป็น 5 กลุ่ม คือ
1.วัคซีนซิโนแวค 19.5 ล้านโดส มีระเวลาการส่งมอบตั้งแต่ ก.พ.-ส.ค.2564 ใช้งบกลางจัดหา 7.6 ล้านโดส ใช้งบจาก พ.ร.ก.กู้เงินจัดหา 10.9 ล้านโดส และรับบริจาคจากจีน 1 ล้านโดส
2.วัคซีนแอสตร้า เซเนก้า 62.46 ล้านโดส มีระยะเวลาการส่งมอบตั้งแต่ ก.พ.-ธ.ค.2564 เป็นการใช้งบกลางจัดหา 26 ล้านโดส ใช้งบจาก พ.ร.ก.กู้เงินจัดหา 35 ล้านโดส รับบริจาคจากญี่ปุ่น 1.05 ล้านโดส รับบริจาคจากสหราชอาณาจักร 415,000 โดส
3.วัคซีนไฟเซอร์ 31.5 ล้านโดส มีระยะเวลาการส่งมอบตั้งแต่ ส.ค.-ธ.ค.2564 เป็นการใช้งบจาก พ.ร.ก.กู้เงินจัดหา 30 ล้านโดส (โดยให้มีการอนุมัติงบประมาณจากเงินกู้ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงิน 9.37 พันล้านบาท) และรับบริจาคจากสหรัฐ 1.5 ล้านโดส
4.วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 5 ล้านโดส ระยะเวลาการส่งมอบ ธ.ค.2564 โดยทั้งหมดเป็นการใช้งบจาก พ.ร.ก.กู้เงินจัดหา
5.วัคซีนซิโนแวค วัคซีนแอสตร้า เซเนก้า และวัคซีนอื่นๆ 50 ล้านโดส ระยะเวลาการส่งมอบ ม.ค.-มี.ค.2565 โดยทั้งหมดเป็นการใช้งบจาก พ.ร.ก.กู้เงินจัดหา
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ และ ผู้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า สามารถติดตามได้ ที่นี่