svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

วิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก หลังเรือ"เอ็กซ์-เพรส เพิร์ล"จมทะเล

จากกรณีที่เรือ "เอ็กซ์-เพรส เพิร์ล" เรือสินค้าสัญชาติสิงคโปร์จมลงหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้เกือบ 2 สัปดาห์ ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ ที่มีความเสียหายมูลค่ามหาศาลกว่าที่ใครจะคาดคิด

เรือ "เอ็กซ์-เพรส เพิร์ล" เป็นเรือสินค้าจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ บรรทุกสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์มาทั้งสิ้น 1,486 หลัง ทั้งหมดนี้มี 81 หลัง ที่ถูกระบุว่ามีสารเคมีอันตราย และมี 25 หลังที่บรรจุเม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการทำผลิตภัณฑ์พลาสติกทุกชนิด รวมปริมาณ 78 ตัน ขณะเดียวกันก็ยังมีสารเคมีที่เป็นพิษอย่างกรดไนตริก รวม 25 ตัน และยังมีน้ำมันเตาชนิดหนัก (heavy fuel oil) อีก 297 ตัน และน้ำมันดีเซลสำหรับเดินเรือ (marine fuel oil) อีก 51 ตัน 
เรือ "เอ็กซ์-เพรส เพิร์ล" เดินทางมาถึงเมืองโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา ในวันที่ 19 พ.ค. 64 และจอดทอดสมออยู่ที่ท่าเรือด้านนอกเพื่อรอเทียบเรือ ท่ามกลางข่าวลือว่าลูกเรือพบกรดไนตริกรั่วไหลจากตู้คอนเทนเนอร์ แต่ยังไม่มีการแก้ปัญหาดังกล่าวเนื่องจากในเรือไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้

วิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก หลังเรือ\"เอ็กซ์-เพรส เพิร์ล\"จมทะเล


หลังจากนั้นมีรายงานว่าเกิดเหตุไฟไหม้ในเรือเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 64 ห่างออกไป 9.5 ไมล์ทะเล ทางตะวันตกเฉียงเหนือของท่าเรือโคลัมโบ จากนั้นในอีก 5 วันถัดมา มีรายงานเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในเรือ แต่ลูกเรือทั้ง 25 คนได้รับการช่วยเหลือออกมาได้ โดยมี 2 คน ได้รับบาดเจ็บ
เพลิงยังลุกไหม้อย่างต่อเนื่อง ตู้คอนเทนเนอร์เริ่มจมลงสู่ท้องทะเล และมีรายงานว่าน้ำมันเริ่มรั่วไหล จนถึงวันที่ 30 พ.ค. เพลิงก็เริ่มสงบ ก่อนที่ส่วนท้ายของเรือจะจมสู่ก้นทะเลเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา
ผลกระทบ
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ทั่วโลกต่างหวั่นวิตกถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในท้องทะเลและชายฝั่ง โดยนับตั้งแต่ตู้คอนเทนเนอร์จมทะเล เม็ดพลาสติกหลายสิบตันก็เริ่มลอยติดชายหาดศรีลังกาหลายกิโลเมตร และผู้เชี่ยวชาญยังคาดการณ์ว่า เม็ดพลาสติกเหล่านี้ อาจลอยไปไกลหลายร้อย กม. ถึงอินโดนีเซียทางทิศตะวันออก และถึงประเทศโซมาเลียทางทิศตะวันตก

วิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก หลังเรือ\"เอ็กซ์-เพรส เพิร์ล\"จมทะเล


เม็ดพลาสติกดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างมหาศาล เพราะหากสิ่งมีชีวิตในทะเลกินเม็ดพลาสติกเข้าไป จะสร้างปัญหาในระบบห่วงโซ่อาหาร และแพร่กระจายการปนเปื้อนสารเคมีทั่วท้องทะเล
นอกจากนี้ กรดไนตริกที่บรรทุกมาในเรือ หากเกิดการรั่วไหลออกมาทั้งหมด จะเกิดการทำปฏิกิริยาจนทำให้เกิดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งอาจทำให้เกิดฝนกรดเล็กน้อยในศรีลังกา สร้างความเสียหายต่อป่าไม้ แหล่งน้ำ และสุขภาพของมนุษย์
นอกจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจอีกด้วย โดยกลุ่มผู้ทำอาชีพประมงเกือบ 5,000 ครัวเรือนต้องตกงานทันที หลังจากรัฐบาลศรีลังกาประกาศห้ามทำประมงอย่างเด็ดขาดในบริเวณดังกล่าว ซึ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่นเสียหายหนัก รวมถึงบริษัทที่ขนส่งสินค้าทางเรือลำนี้ ก็ต้องพบกับความสูญเสียที่มีมูลค่าราว 30-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 937-1,562 ล้านบาท)