ในส่วนของผลกระทบของเกษตรกรนั้น ไม่น่าเป็นห่วงเพราะการส่งออกของไทยจะเป็นไปในรูปเนื้อปลาหั่นชิ้นแช่แข็ง ดังนั้นแม้การผลิตปลากะพงของไทยจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่จะไม่กระทบกับปลากะพงในจีนที่ส่วนใหญ่จะขายเต็มตัว
อย่างไรก็ตามกรณีที่เจ้าหน้าที่จีนต้องเข้ามาตรวจสอบรับรองกระบวนการผลิตของไทยนั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการระบาดของโควิด ดังนั้นกรมประมงจึงทำหนังสือ หารือให้ใช้วิธีการตรวจสอบผ่านคลิปวีดีโอ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา
"เป็นวิธีการเดียวที่จะทำให้ไทยเปิดตลาดปลากะพงในจีนได้ ซึ่งต้องอาศัยความเชื่อมั่นระหว่างกัน หากสามารถดำเนินการได้ จะเป็นอีกช่องทางในการแก้ปัญหาปลากะพงล้นตลาด และราคาปรับลดลงในขณะนี้ เหลือเพียง 60 บาทต่อกก.เท่านั้นจากก่อนหน้าที่ขายได้สูงถึง120 -170 บาทต่อกก. "
เกษตรกรต้องการผลักดันให้ราคาปลากะพงในตลาดปรับขึ้นอย่างน้อยคือ 80 บาทต่อกก. ซึ่งเป็นราคาที่อยู่ได้ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาล้นตลาด เนื่องจากมีปลากะพงจากมาเลเซียทะลักเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้การเปิดเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ในราคาที่ถูกกว่า ประมาณ 20 % แม้กรมประมงจะเร่งตรวจสอบด้านสุขอนามัย(SPS) แต่ก็ไม่สามารถต้านการนำเข้าดังกล่าวได้โดยแต่ละปีไทยมีผลผลิตปลากะพงประมาณ 2 หมื่นตัน มูลค่า ประมาณ 2.6 พันล้านบาท เนื้อที่การเลี้ยง ประมาณ 12,812.16 ไร่ 7.5 พันฟาร์ม
สำหรับตลาดการส่งออกปลากะพงของไทยที่สำคัญ คือ เมียนมาร์ สหรัฐ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กัมพูชา สิงคโปร์ ฮ่องกง ซาอุดีอาระเบีย หากไทยสามารถเปิดตลาดจีนได้ ส่วนหนึ่งต้องระวังเรื่องกะพงมาเลเซียสวมสิทธิ์ ดังนั้นทุกฟาร์มที่ต้องการส่งออกจะต้องมีหนังสือรับรองการตรวจสอบย้อนกลับแนบไปด้วย