มาสเตอร์การ์ด เผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคทั่วโลกที่กำลังเปลี่ยนไป จาก 19 ประเทศ พบว่า การใช้จ่ายแบบคอนแทคเลสมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ต่อไปเหมือนเดิมหลังจากผ่านวิกฤติโรคโควิด-19 ครั้งนี้ไปแล้ว
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมา หลายประเทศออกกฎระเบียบคุมเข้มมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ทำให้ผู้คนจำนวนมากหันไปใช้จ่ายแบบ "คอนแทคเลส " หรือ "การใช้จ่ายแบบไร้สัมผัส" ในการจับจ่ายของใช้ในชีวิตประจำวัน จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกของมาสเตอร์การ์ด 79% ของประชากรทั่วโลกและ 91% ของประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า ตอนนี้พวกเขาได้หันมาใช้จ่ายแบบคอนแทคเลสแล้ว โดยให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัยและลดความกังวลในการสัมผัสเงินสดและอุปกรณ์ต่างๆของการชำระเงิน
ทั้งนี้เมื่อต้องออกไปซื้อของข้างนอก พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสามารถเห็นได้ชัดเจนเมื่อถึงเวลาจ่ายเงินที่แคชเชียร์ ผู้คนเริ่มแสดงความต้องการชำระสินค้าด้วยรูปแบบคอนแทคเลส รวมทั้งแสดงความกังวลเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยของจุดชำระเงิน
บัตรคอนแทคเลสถูกเก็บเป็นใบแรกๆ ในกระเป๋าเงิน การคำนึงถึงความปลอดภัยและความสะดวกในการแตะเพื่อจ่ายทำให้ผู้คนหันมาใช้บัตรคอนแทคเลสมากขึ้น 46% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ทั่วโลกได้เปลี่ยนบัตรชำระเงินที่ใช้เป็นประจำเป็นบัตรที่รองรับระบบคอนแทคเลส เช่นเดียวกันกับ 51% ของประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่หันมาใช้บัตรที่รองรับระบบคอนแทคเลสแล้วเช่นกัน
ผู้คนมั่นใจกับการใช้จ่ายแบบคอนแทคเลส โรคโควิด-19 ทำให้เกิดความกังวลในการใช้เงินสดและนำไปสู่ทัศนคติที่ดีต่อการใช้จ่ายแบบคอนแทคเลสด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยและความสบายใจ 82% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกมองว่าการใช้จ่ายแบบคอนแทคเลสเป็นช่องทางการชำระเงินที่ลดความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของเชื้อที่ดีกว่า ซึ่ง 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิกมองแบบเดียวกัน นอกจากนี้ เพราะการใช้จ่ายแบบคอนแทคเลสเร็วกว่าการใช้จ่ายที่ไม่ใช่คอนแทคเลสถึง 10 เท่า ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้า-ออกร้านค้าได้เร็วขึ้น ผู้คนจึงมีความมั่นใจต่อการใช้จ่ายแบบคอนแทคเลสมากขึ้น
การใช้จ่ายแบบคอนแทคเลสจะอยู่กับเราต่อไป ตอนนี้เป็นช่วงที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับวิธีการชำระเงินเป็นอย่างมาก การใช้จ่ายแบบคอนแทคเลสในประเทศที่มีการใช้อย่างแพร่หลายอยู่แล้วถูกนำมาปรับใช้มากขึ้นอีก ในขณะเดียวกันก็เกิดการกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายเงินแบบคอนแทคเลสในประเทศ ที่วิธีนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย จากผลสำรวจ 74% ของประชากรทั่วโลก และ 75% ของประชากรในเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า พวกเขาจะยังคงใช้จ่ายแบบคอนแทคเลสต่อไปแม้จะผ่านวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ไปแล้ว
"ผลสำรวจของมาสเตอร์การ์ดแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนไปใช้จ่ายแบบคอนแทคเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้วิธีการชำระเงินและการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของผู้คนเปลี่ยนไป" แซนดีป มอลโฮทรา รองประธานกรรมการบริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด กล่าว "ความจริงที่ว่า 3 ใน 4 ของประชากรมีความตั้งใจที่จะใช้จ่ายแบบคอนแทคเลส หรือ แตะเพื่อจ่ายต่อไป แม้สถานการณ์โควิดจะจบลง เป็นสัญญาณที่ชัดเจนจากผู้บริโภคถึงประโยชน์ของการใช้จ่ายแบบคอนแทคเลสในระยะยาวในเรื่องของความปลอดภัย ความสะอาด ความรวดเร็วและความรับผิดชอบต่อสังคม"มาสเตอร์การ์ดเป็นผู้นำในการผลักดันให้มีการใช้ระบบคอนแทคเลสในการชำระเงินทั่วโลก เพื่อให้มีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย สอดคล้องกับความต้องการปัจจุบันของผู้บริโภคที่มองหาวิธีที่พวกเขาสามารถเข้า-ออกร้านค้าได้เร็วที่สุดโดยที่ไม่ต้องสัมผัสกับจุดชำระเงิน มาสเตอร์การ์ดพบว่ายอดการทำธุรกรรมแบบคอนแทคเลสเติบโตกว่า 40% ทั่วโลกในไตรมาสแรกของปี 20201 โดยที่กว่า 80% ของการทำธุรกรรมมีมูลค่าต่ำกว่า 25 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 800 บาท ซึ่งโดยปกติจะเป็นการใช้จ่ายด้วยเงินสดเสียมากกว่า
แม้ว่าแต่ละประเทศจะอยู่ในช่วงที่ต่างกันของการนำคอนแทคเลสมาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ด้วยพฤติกรรมและการเลือกวิธีการชำระเงินของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ข้อมูลเชิงลึกจากผลสำรวจของมาสเตอร์การ์ดพบว่า แนวโน้มการจับจ่ายด้วยบัตรคอนแทคเลสเพื่อซื้อสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันในร้านสะดวกซื้อและร้านขายยาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยที่การใช้จ่ายแบบคอนแทคเลสทั่วโลกเติบโตสูงกว่าการใช้จ่ายที่ไม่ใช่คอนแทคเลส 2 เท่า1 และ 2.5 เท่าสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก2
ในเดือนที่ผ่านมามาสเตอร์การ์ดได้ประกาศเพิ่มวงเงินสำหรับบัตรคอนแทคเลสใน 50 กว่าประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะในทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน และประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของมาสเตอร์การ์ดในการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ร้านค้าและธุรกิจขนาดเล็กว่าพวกเขาเหล่านี้จะมีเครื่องมือในการทำธุรกรรมการเงินที่ปลอดภัยและจะยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ในช่วงวิกฤติโควิดนี้