การประหารชีวิตนักโทษรายนี้ ใช้วิธี "ฉีดสารพิษเข้าร่างกาย" ซึ่งนับเป็นรายที่ 7 แล้วที่ถูกประหารด้วยวิธีนี้ หลังจากเปลี่ยนวิธีประหารชีวิตจาก "ยิงเป้า" เป็น "ฉีดสารพิษ" เมื่อปี 2546
ประเด็นที่กลายเป็นดราม่าก็คือ การประหารชีวิตนักโทษครั้งนี้ เป็นการประหารหลังจากเว้นว่างไปเกือบ 9 ปี จากการประหารครั้งสุดท้ายเมื่อ 24 สิงหาคม ปี 52 ทั้งๆ ที่หากไม่มีการประหารชีวิตจริงๆ เลยครบ 10 ปี ประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับเป็น "ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ" ตามการประกาศของสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น โดยอัตโนมัติ ทำให้บางฝ่ายมองว่าไทยเสียโอกาส
แต่จากการตรวจสอบข้อมูลกับนักกฎหมายและนักอาชญาวิทยา พบว่า การจะบอกว่าไทยเสียโอกาสในเรื่องนี้ ก็ไม่ค่อยจะถูกต้องนัก เพราะการจะเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตจริงๆ ต้องแก้ "กฎหมายภายใน" ของเราเองด้วย / หากยังมีกฎหมายคงโทษประหารชีวิตอยู่ แต่ไม่ประหารจริงเกิน 10 ปี ก็จะเป็นเพียง "ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ" เท่านั้น แม้จะทำให้ดู "ศิวิไลซ์" ขึ้นระดับหนึ่ง / แต่จริงๆ แล้ว ประเทศศิวิไลซ์หลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐ หรือสิงคโปร์ ก็ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่เช่นกัน
ส่วนผลกระทบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น อาจมีบ้างในกระบวนการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน หากไทยไปขอผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วทางประเทศผู้ถูกขออาจพิจารณาไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศไทยยังมี "โทษประหารชีวิต" แต่ความเข้มข้นของเงื่อนไขนี้มีไม่มากนัก และไม่ได้เป็นบรรทัดฐานที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม
ข้อมูลจาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ระบุว่า มีประเทศถึง 142 ประเทศ หรือมากกว่า 2 ใน 3 ของโลก ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมาย หรือในทางปฏิบัติแล้ว แต่ประเทศไทยกลายเป็นประเทศส่วนน้อยที่ยังคงโทษประหารชีวิตอยู่
การเดินหน้าบังคับโทษประหารชีวิตครั้งนี้ ทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยมีโอกาสบังคับโทษประหารชีวิตกับนักโทษคนอื่นๆ อีกในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากปัจจุบันมีนักโทษต้องคำพิพากษาประหารชีวิตในทุกประเภทความผิดและทุกชั้นศาล จำนวน 517 คน แยกเป็นนักโทษชาย 415 คน นักโทษหญิง 102 คน หากนับเฉพาะ "นักโทษเด็ดขาด" ที่คดีถึงที่สุดแล้ว ก็มีถึง 200 คน
นักอาชญาวิทยาชื่อดังจากมหาวิทยาลัยรังสิต ร้อยตำรวจเอก ดอกเตอร์ จอมเดช ตรีเมฆ บอกว่า งานวิจัยแทบทุกชิ้นได้ผลตรงกันว่า โทษประหารชีวิตเกือบจะไม่มีผลยับยั้่งการก่ออาชญากรรมได้เลย เพราะผู้ที่ตัดสินใจกระทำผิด / มักคิดเพียงโอกาสรอดจากการถูกจับกุม มากกว่าคิดถึงโทษที่จะได้รับหากถูกจับ
ส่วนกระแสดราม่าที่สังคมไทยมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย โดยมีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากให้คงโทษประหารชีวิตเอาไว้ เพราะเชื่อว่าสามารถลดอาชญากรรมร้ายแรงได้นั้นอาจารย์จอมเดช บอกว่า ทางออกกลางๆ คือ การไม่ลดโทษจำคุกตลอดชีวิตสำหรับความผิดบางประเภท น่าจะได้ผลมากกว่าโทษประหาร / เพราะการติดคุกตลอดชีวิต ทรมานกว่าโดนประหารเสียอีก'