คดีนี้สรุปให้ฟังง่ายๆ แบบนี้ค่ะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปัญญา เจริญพจน์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมา ให้เพิกถอนมติการประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ที่มีมติให้ รองศาสตราจารย์ มาลิณี จุโฑปะมา เป็นอธิการบดีต่อเป็นสมัยที่สอง เพราะ รองศาสตราจารย์ มาลิณี มีอายุเกิน 60 ปี ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือขัดต่อพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาฯ ที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ต้องเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น
คดีนี้หลายฝ่ายลุ้นกันหนัก เพราะก่อนศาลมีคำพิพากษาไม่นาน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 37/2560 เปิดทางให้ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการ ไปจนถึงคณบดี ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาก็ได้ จึงมีการตีความกันว่า คำสั่ง คสช.ฉบับนี้เป็นการ "ปลดล็อค" ให้ข้าราชการหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยที่เกษียณอายุแล้ว สามารถดำรงตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัยได้ โดยเฉพาะอธิการบดีที่ดำรงตำแหน่งจนครบเกษียณ ก็จะต่ออายุได้ ซึ่งเรื่องนี้เคยเป็นปัญหาขัดแย้งฟ้องร้องกันในหลายมหาวิทยาลัย
แต่คดีนี้ ปรากฏว่าศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัย ที่ให้ รองศาสตราจารย์ มาลิณี ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ทั้งๆ ที่เกษียณอายุราชการ อายุเกิน 60 ปีแล้ว โดยศาลให้เหตุผลว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 37/2560 ระบุไว้เพียงว่า สภามหาวิทยาลัยสามารถแต่งตั้ง "คนนอก" ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ มาดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้ แต่ไม่ได้ระบุเรื่องอายุเอาไว้ ฉะนั้นคุณสมบัติเรื่องอายุ จึงต้องเป็นไปตามกฎหมายเดิม คือผู้ที่อายุเกิน 60 ปี ไม่สามารถดำรงตำแหน่งอธิการบดี หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปัญญา เจริญพจน์ อาจารย์ที่เป็นผู้ฟ้องคดี บอกว่า ขอขอบคุณศาล และรู้สึกดีใจหลังศาลตัดสินให้ชนะคดี เพราะการห้ามตั้งคนที่เกษียณอายุเป็นอธิการบดี เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นระบบราชการ หากตั้งคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการเข้ามาดำรงตำแหน่ง เวลากระทำความผิด จะลงโทษทางวินัยได้อย่างไร นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องเงินเดือนและค่าตอบแทนด้วย เพราะเมื่อไม่ได้เป็นข้าราชการ ก็นำงบประมาณแผ่นดินมาจ่ายไม่ได้ จึงต้องใช้เงินจากค่าเทอมนักศึกษา ผู้บริหารเหล่านี้เงินเดือนสูงมาก ก็จะกระทบกับค่าเทอมของนักศึกษาที่ต้องสูงตาม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ รัฐกร คิดการ ประธานที่ปรึกษาประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อกรณีของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ศาลตัดสินออกมาอย่างนี้ แล้วคดีของมหาวิทยาลัยอื่นที่มีการฟ้องร้องกัน จะยึดบรรทัดฐานเดียวกันหรือไม่ ถ้าเป็นบรรทัดฐานนี้ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 37/2560 อาจเป็นโทษกับผู้ที่เกษียณอายุไปแล้ว และยังดำรงตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัยอยู่ก็เป็นได้
ขณะที่ ดอกเตอร์ เชษฐา ทรัพย์เย็น ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี บอกว่า คำพิพากษานี้ถือเป็นคำพิพากษาแรกที่ศาลตัดสินข้อพิพาทเรื่อการตั้งอธิการบดี หลังมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 37/2560 ซึ่งเชื่อว่าศาลได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว น่าจะเป็นบรรทัดฐานของคดีอื่นๆ ด้วย
ประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องตามลุ้นกันต่อก็คือ คดีลักษณะเดียวกันนี้ยังมีฟ้องร้องกันอีกนับสิบมหาวิทยาลัย ฉะนั้นคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ออกโดยอำนาจของมาตรา 44 ที่เชื่อว่าจะช่วยปลดล็อคปัญหาการบริหารภายในมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งได้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาคมอุดมสึกษานั้น บทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามค่ะ