svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

(คลิปข่าว) เยี่ยมกองประดาน้ำ ลูกประดู่... กว่าจะเป็นนักกู้ระเบิดใต้น้ำ

16 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

ช่วงส่งท้ายเทศกาลสงกรานต์แบบนี้ "ล่าความจริง" มีรายงานพิเศษเป็นเรื่องน้ำๆ มาฝากกัน นำเสนอเป็นซีรีส์ 3 ตอนต่อเนื่อง เป็นเรื่องราวของทหารเรือหน่วยหนึ่งที่ทำงานแบบ "ปิดทองหลังพระ" ไม่เป็นข่าว ไม่โด่งดัง และไม่ค่อยมีใครเห็น แต่งานของพวกเขาไม่ใช่ง่ายๆ ทุกวินาทีที่ปฏิบัติหน้าที่หมายถึงความเสี่ยง เพราะชีวิตต้องดำอยู่ใต้น้ำเป็นเวลานาน พวกเขาคือ "เจ้าหน้าที่จากกองประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์" ซึ่ง "อมภัณฑ์" ก็คือวัตถุระเบิดนั่นเอง การทำงานของเจ้าหน้าที่กองประดาน้ำฯนี้ แทบไม่เคยมีใครไปถ่ายทำเป็นข่าวมาก่อนเลย วันนี้ คุณอัญชลี อริยกิจเจริญ จะพาคุณผู้ชมลงพื้นที่ไปดูพร้อมกัน แน่นอนว่าต้องมีรายการดำน้ำกันด้วย เรียกว่าเอกซ์คลูซีฟจริงๆ ติดตามชมกันเลยค่ะ

(คลิปข่าว) เยี่ยมกองประดาน้ำ ลูกประดู่... กว่าจะเป็นนักกู้ระเบิดใต้น้ำ


"กองประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์" ขึ้นตรงกับกรมสรรพาวุธทหารเรือ มีหน้าที่วางแผน ประสานงาน ควบคุม และดำเนินการเกี่ยวกับงานใต้น้ำทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง ซ่อมทำ ดัดแปลง แก้ไข ทำลาย กู้ รื้อ ติดตั้ง ถอดถอน ค้นหา สำรวจ การรักษาความปลอดภัยทางน้ำ การกู้ภัยใต้น้ำ และเชื่อมตัดโลหะป้องกันความเสียหายของตัวเรือใต้แนวน้ำ


นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ EOD คือค้นหา เก็บกู้ ถอดแยก พิสูจน์ทราบ รักษาความปลอดภัยและทำลายอาวุธอมภัณฑ์ หรือวัตถุที่มีระเบิดเป็นส่วนประกอบ รวมไปถึงเคมีสงครามที่ใช้ในกิจการทหารทั้งบนบกและใต้น้ำ อีกทั้งยังบริการงานคลัง ซ่อมบำรุง ทดสอบทดลองและสนับสนุนอุปกรณ์การดำน้ำ รวมทั้งอากาศที่ใช้ปฏิบัติงานใต้น้ำ สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ก็เหมือนมนุษย์กบ เพียงแต่ว่าหน่วยนี้จะดำน้ำลึกกว่า และดำนานกว่า

(คลิปข่าว) เยี่ยมกองประดาน้ำ ลูกประดู่... กว่าจะเป็นนักกู้ระเบิดใต้น้ำ



เจ้าหน้าที่ EOD กองทัพเรือ จะต่างจาก EOD ของเหล่าทัพอื่น ตรงที่ก่อนจะเรียนและฝึกเป็น EOD ได้ ทุกคนต้องผ่านหลักสูตรประดาน้ำ 22 สัปดาห์มาก่อน พวกเขาจึงมีความสามารถในการปฏิบัติงานทั้งบนบกและใต้น้ำ ปัจจุบันทางหน่วยได้ทยอยผลิตบุคลากรเพิ่มเพื่อรองรับภารกิจทั้งหมดให้ครอบคลุม
ก่อนจะพาไปดูภารกิจต่างๆ ของเจ้าหน้าที่กองประดาน้ำ "ล่าความจริง" พาไปเรียนรู้เรื่องของการดำน้ำลึก หรือ scuba กันก่อน อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีสำหรับการดำน้ำลึก เริ่มจากถังอากาศหรือขวดอากาศ เป็นอุปกรณ์ช่วยหายใจ ภายในบรรจุอากาศชนิดเดียวกับที่เราหายใจปกติ ไม่ใช่ออกซิเจนบริสุทธิ์อย่างที่หลายคนเข้าใจ มีขีดความสามารถการดำน้ำอยู่ที่ 190 ฟุต หรือ 57 เมตร และอากาศที่หายใจออกมา จะปล่อยทิ้งไปหมด เราเรียก open circuit

(คลิปข่าว) เยี่ยมกองประดาน้ำ ลูกประดู่... กว่าจะเป็นนักกู้ระเบิดใต้น้ำ


แต่ก็มีอุปกรณ์ดำน้ำที่ใช้งานในขั้นสูงกว่า ที่สามารถนำอากาศที่หายใจออกมา กลับไปกรองใหม่แล้วใช้ได้อีก โดยส่วนที่เกิน จะย่อยเป็นฟองเล็กๆ เรียกว่า semi close circuit นอกจากนี้ยังมีอีกระบบ ที่เมื่อหายใจออกแล้ว ไม่มีฟองอากาศให้เห็น เราเรียก close circuit สามารถดำน้ำได้ลึกและนานกว่า ซึ่งตากล้องที่ถ่ายสารคดี ส่วนใหญ่จะใช้แบบนี้ ในทางทหาร เหมาะสำหรับการเข้าแทรกซึมหาข่าว เพราะฝ่ายตรงข้ามตรวจจับยาก
ถัดมาคือ "เรกกูเลเตอร์" เป็นสายที่ดึงอากาศจากถังอากาศมาใช้หายใจ "ฟิน" หรือ "ตีนกบ" ช่วยลดแรงในการแหวกว่ายไปที่ต่างๆ / "เวทเบลท์"หรือเข็มขัดใส่ตะกั่ว ใช้ถ่วงน้ำหนัก เพื่อความเหมาะสมในการดำน้ำ "เสื้อชูชีพสำหรับนักดำน้ำ" สามารถปรับลมเข้า-ออกได้ตามต้องการ / เสื้อชูชีพมีความจำเป็นมาก เพราะทั้งเรกกูเลเตอร์ ถังอากาศ และอุปกรณ์อื่นจะติดอยู่กับเจ้าเสื้อตัวนี้

(คลิปข่าว) เยี่ยมกองประดาน้ำ ลูกประดู่... กว่าจะเป็นนักกู้ระเบิดใต้น้ำ



ปิดท้ายที่ "หน้ากากดำน้ำ" ช่วยให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ใต้น้ำได้ โดยทั่วไปมีหลายแบบ บางรุ่นมีชุดติดต่อสื่อสาร เราจึงสามารถพุดคุยกับคนที่อยู่บนบกได้ นอกจากอุปกรณ์พื้นฐานแล้ว ยังมีอุปกรณ์อื่นที่น่าสนใจ และช่วยให้ปฏิบัติภารกิจได้รวดเร็วขึ้น

โซนาร์ค้นหาใต้น้ำ ใช้ค้นหาวัตถุหรือทุ่นระเบิดต่างๆ โดยใช้คลื่นเสียง ผู้ใช้งานต้องใส่หูฟัง เพื่อฟังว่าคลื่นเสียงที่ส่งออกไป สะท้อนกลับมาจากทิศทางใด จะได้เข้าหาวัตถุได้ถูกต้อง หลักการทำงานคล้ายๆ กับเรดาร์ เพียงแต่เรดาร์ใช้ในอากาศ และเมื่อใช้งานโซนาร์ ควรใช้กับชุดดำน้ำแบบ non-magnetic คือ ไม่มีคลื่นแม่เหล็ก เพื่อความปลอดภัยจากอมภัณฑ์ที่อยู่ใต้น้ำ นอกจากนี้ ยังมีโซนาร์แบบจอแสดงภาพ คือ ยิงคลื่นเสียงออกไป แล้วภาพจะปรากฏ เหมาะกับสภาวะน้ำขุ่น เห็นไม่ชัด หลักการทำงานเหมือนกล้อง night vision ที่สามารถมองเห็นในที่มืดนั่นเองยังมีอุปกรณ์อีกหลายอย่างที่น่าสนใจ โดยเฉพาะหัวครอบดำน้ำ ที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใช้ชีวิตอยู่ใต้น้ำได้ทั้งวัน โดยไม่ต้องกังวลว่าอากาศจะหมดถัง ติดตามต่อได้ในวันพรุ่งนี้

logoline