svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

Healthy Lifestyle ที่อาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี

รู้แล้วเลิกทำ!! 7 วัน 7 Healthy Lifestyle สำรวจแนวทางไลฟ์สไตล์ 'เพื่อสุขภาพ' ที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าผลดี

Healthy Lifestyle เป็นการเลือกดำเนินวิถีชีวิตแบบรักสุขภาพ ไม่ว่าจะรับประทานอาหารคลีน งดเนื้อสัตว์ เน้นผักและผลไม้  ตัดคาร์โบไฮเดรต ควบคุมอาหารและยังหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทว่า กลับยังไม่ได้ผลลัพธ์แบบที่ต้องการ เป็นเพราะอะไร มาร่วมค้นหาคำตอบไปพร้อมกัน

 

เชื่อหรือไม่ “บางครั้งการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ อาจไม่ช่วยทำให้คุณมีสุขภาพที่ดีได้ ซ้ำร้ายอาจบั่นทอนร่างกายหากเคร่งครัดมากเกินไป”

 

 

รู้แล้วเลิกทำ!! 7 วัน 7 Healthy Lifestyle เรื่องดีๆ ที่อาจไม่ดีถ้ามากเกินไป

Healthy Lifestyle ที่อาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี

1. กินอาหารแบบคุมแคลอรีมากเกินไป

เอลิซาเบธ เดโรเบอร์ทิซ (Elizabeth DeRobertis) นักโภชนาการและผู้อำนวยการของศูนย์โภชนาการอาหารที่สคาร์สเดลเมดิคัลกรุ๊ป โรงพยาบาล ไวต์เพลนส์ กล่าวถึงกรณีการลดพลังงานขาเข้าในร่างกายไว้ว่า “หากคุณพยายามที่จะลดน้ำหนักและลดแคลอรีมากเกินไป อาจทำให้คุณไม่มีพลังงานที่เหมาะสมเพื่อให้ดำเนินชีวิตได้ตลอดวัน”

เดโรเบอร์ทิซ อธิบายเพิ่มว่า อาหารให้พลังงานเพื่อยังคงมีสมาธิและทำสิ่งต่างๆ ได้ตลอดทั้งวัน ขณะที่บางครั้งผู้คนคิดว่าหากต้องการลดน้ำหนักก็ควรกินให้น้อยเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่นั่นไม่ได้ผลในระยะยาว เมื่อบางคนจำกัดอาหารที่นำเข้าสู่ร่างกาย ระบบการเผาผลาญจะช้าลงและอาจรู้สึกหมดพลัง ซึ่งสุดท้ายแล้วจะจบลงด้วยความหิว และตามมาด้วยการรับประทานเกินไป

สำหรับการแก้ปัญหานี้  เมลิสสา เมจัมดาร์ (Melissa Majmdar) นักโภชนาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำหนักและความอ้วน แนะนำว่า “หากคุณรู้สึกว่าไม่ค่อยมีพลัง ก็ควรเริ่มจากการเพิ่มโปรตีนปราศจากไขมันปริมาณ 1-2 ออนซ์ (30-60 กรัม) ธัญพืชเต็มเมล็ดครึ่งถ้วย หรือไขมันที่ดีต่อสุขภาพ 1 ช้อนชา

 

 

2. เว้นระยะห่างระหว่างมื้อนานเกินไป

บางคนเลือกme Intermittent Fasting (IF) ซึ่งเป็นวิธีการลดน้ำหนักวิธีหนึ่ง โดยการควบคุมแคลอรีและจำกัดเวลาในการทานอาหาร โดยมีหลากหลายวิธีในการปฏิบัติ แต่วิธีที่ได้รับความนิยมก็คือจำกัดเวลาทานอาหาร 8 ชั่วโมง และอดอาหาร 16 ชั่วโมง เรื่องที่ต้องรู้เพิ่มขึ้นคือการปล่อยให้ท้องว่างนานเกินไป ก็ส่งผลให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าได้ โดย เมลิสสา เมจัมดาร์ กล่าวว่า “บางคนอาจเคยประสบกับอาการง่วงนอนตลอดเวลา เฉื่อยชา เหมือนกับลักษณะของการรับประทานมากเกินไปแทนการรู้สึกหิวตามปกติ หาก 2-3 ชั่วโมงหลังมื้ออาหาร แล้วรู้สึกว่าแทบไม่มีพลังงานในการทำกิจกรรม ควรคิดถึงอาหารว่างที่เป็นไฟเบอร์และโปรตีน อย่างผลไม้สดกับถั่วสักหนึ่งกำมือ”

 

3. ตัดคาร์โบไฮเดรตออกจากมื้ออาหาร

การเลือกกินแบบ Low Carb Diet และ Ketogenic Diet อาจซ่อนผลร้ายต่อสุขภาพไว้ด้วยหากไม่ระวัง เพราะการรับประทานคาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไปไม่เพียงทำให้รู้สึกไม่ดี เหนื่อยและหงุดหงิดง่ายเนื่องจากน้ำตาลในเลือดต่ำ แต่ยังสามารถนำไปสู่ภาวะการขาดน้ำของร่างกายซึ่งทำให้รู้สึกอ่อนล้าได้ด้วย

แม้ว่าคาร์โบไฮเดรตกับน้ำในร่างกายไม่น่ามีความเกี่ยวข้องกัน แต่ เดโรเบอร์ทิซ อธิบายความเกี่ยวข้องของการลดคาร์โบไฮเดรตซึ่งนำไปสู่การขาดน้ำของร่างกายว่า “ทุกกรัมของคาร์โบไฮเดรตที่เก็บสะสมในร่างกาย จะมีการเก็บน้ำไว้ด้วย 2-3 กรัม เมื่อบางคนรู้สึกว่าพลังลดลงในช่วงบ่าย ฉันจะคิดถึงต้นไม้ที่เหี่ยวเฉาและต้องการน้ำ เมื่อเรารดน้ำต้นไม้ มันก็จะฟื้นขึ้นมา ซึ่งฉันคิดภาพว่าสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับเซลล์ในร่างกายของเราด้วย เมื่อเราไม่ได้รับน้ำที่เพียงพอในแต่ละวัน”

การลดคาร์โบไฮเดรตโดยเฉพาะอาหารที่อุดมด้วยน้ำตาลเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ควรแน่ใจว่าไม่ได้ละเลยคาร์โบไฮเดรตที่อุดมด้วยไฟเบอร์อย่างผลไม้ ผัก และธัญพืชเต็มเมล็ด

 

4. กินผักเยอะดีแต่ไม่สมดุล

การเลือกกินผักผลไม้ ลดหรือไม่รับประทานเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของมื้ออาหาร ไม่ได้หมายความว่าจะเป็น Healthy Lifestyle หรือวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีที่สุด แต่เราจะต้องตระหนักถึงการบริโภคสารอาหารต่างๆ ที่มีความสมดุล เรื่องนี้ เอลิซาเบธ เดโรเปอร์ทิซ อธิบายว่า “หากบางคนเลือกที่จะรับประทานมังสวิรัติ แต่ไม่ระวังที่จะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินบี 12 และธาตุเหล็ก ไม่ว่าจากอาหารเสริมหรือจากพืชอย่างเพียงพอ อาจต้องจบลงด้วยภาวะโลหิตจาง และความรู้สึกเหนื่อยล้า”

นอกจากเนื้อวัวแล้ว อาหารที่มีธาตุเหล็กสูงยังมีทั้งผักโชม และถั่ว ซึ่งหากรับประทานธาตุเหล็กจากพืชก็ควรที่จะเพิ่มวิตามินซีเข้าไปด้วยเพื่อช่วยในการดูดซึม โดย เมลิสสา เมจัมดาร์ แนะนำว่า "ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ ควรระวังว่าอาจเกิดภาวะขาดวิตามินบี 12 แม้ว่าอาจใช้เวลาหลายปีในการทำให้เกิดภาวะนี้ แต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารเสริม หากไม่รับประทานเนื้อสัตว์อย่างเนื้อวัว ปลา ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม"

 

5. กินหวานมากไปแบบไม่รู้ตัว

บางครั้งเราก็บริโภคน้ำตาลมากไปโดยไม่รู้ตัว เพราะอาหารและเครื่องดื่มในปัจจุบันมักมีน้ำตาลแฝงที่ไม่ได้มาในรูปแบบน้ำตาล น้ำเชื่อมตามปกติ หรือแม้แต่การกินผลไม้สุกที่มีรสหวานจัด ซึ่งนั่นเป็นการรับประทานคาร์โบไฮเดรตมากเกินไปทำให้เกิดความเฉื่อยชาได้ เพราะแม้กับคาร์โบไฮเดรตที่ดีต่อสุขภาพก็ยังต้องถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในร่างกาย แล้วตับอ่อนจะตอบสนองโดยการสร้างอินซูลินออกมาเพื่อทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ ซึ่งนักโภชนาการแนะนำว่า ควรสังเกตอาการที่เกิดขึ้นหลังอาหารแต่ละมื้อ หากรู้สึกว่าเหนื่อยล้าหลังมื้ออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ก็ควรแบ่งการรับประทานคาร์โบไฮเดรตในแต่ละช่วงของวัน

Healthy Lifestyle ที่อาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี

6. ออกกำลังกายมากเกินไป

การหักโหมออกกำลังกายมากเกินไปทำให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อยล้า ซึ่งคำว่ามากเกินไปจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เป้าหมาย ระดับความเครียด สุขภาพโดยรวม ระดับความฟิตของร่างกาย รวมทั้งประเภทการออกกำลังกาย นอกจากนี้ การที่ร่างกายมีพลังงานน้อยเกินไปสำหรับการออกกำลังกาย ยังทำให้เกิดความอ่อนล้าได้ เพราะในขณะออกกำลังกาย ร่างกายจะเผาผลาญไขมันร่วมกับคาร์โบไฮเดรต ซึ่งหากรับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอก็ยากที่จะเกิดพลังงานในการออกกำลังกาย

และหากยังคงเกิดรูปแบบนี้ต่อไปก็จะทำให้คาร์โบไฮเดรตที่สะสมไว้ในร่างกายที่เรียกว่า ไกลโคเจน ไม่มีการสะสมเข้ามาใหม่ ส่งผลให้รู้สึกหมดแรง หงุดหงิด และขาดความมั่นใจในการออกกำลังกาย โดยเราจะรู้สิ่งเหล่านี้ได้ด้วยการสังเกตความรู้สึกก่อนและหลังการออกกำลังกาย แล้วพิจารณาถึงการเพิ่มคาร์โบไฮเดรตหรือการแคลอรีที่เข้าสู่ร่างกาย หรือลดการออกกำลังเพื่อให้สมดุลกับพลังงานในร่างกาย

Healthy Lifestyle ที่อาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี

7.นอนพักผ่อนมากเกินไป

ผลเสียจากการนอนมากเกินไป ได้แก่ ‘สมองทำงานช้า’ พอสมองทำงานช้า ความคิดความอ่านก็จะช้า รู้สึกเฉื่อยชา กลายเป็นคนไร้เรี่ยวแรง ไม่มีชีวิตชีวา ไม่อยากขยับร่างกาย ทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อไม่ค่อยถูกใช้งาน ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคเกี่ยวกับกระดูกได้

‘อ้วนง่าย’ การนอนจะทำให้ระบบอาหารไม่ย่อย แม้จะกินน้อยแต่ระบบเผาผลาญไม่ทำงาน ร่างกายเริ่มสะสมไขมัน ซึ่งก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ ความดัน และเบาหวาน และยังส่งผลต่อการ ‘มีบุตรยาก’ โดยผลจากการศึกษาผู้หญิงเกาหลีใต้ ในปี 2013 พบว่าผู้ที่นอนนานเกินวันละ 9 ชั่วโมงต่อวัน จะเกิด ‘ภาวะมีบุตรยาก’ กว่าคนที่นอน 7-8 ชั่วโมง ถึง 650 คน เพราะฮอร์โมนและรอบเดือนของผู้หญิงจะเป็นปกติก็ต่อเมื่อได้รับการพักผ่อนอย่างพอดี

นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อ ‘โรคซึมเศร้า’ โดยในปี 2012 ได้มีการศึกษาผู้หญิงสูงวัยที่นอนมากกว่า 9 ชั่วโมง นั้นจะมีอารมณ์แปรปรวน สมองทำงานแย่ลงเพราะสารแห่งความสุขจะผลิตน้อยลง ซึ่งเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนที่นอนปกติถึง 49% และสุดท้ายเมื่อเรานอนมากไปก็ทำให้ ‘ตายเร็ว’ ซึ่งคนที่หลับง่ายและนอนนานๆ จะไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย ส่งผลให้ออกซิเจนไม่ไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่นอนอย่างพอดีถึง 1.3%

 

เห็นแล้วใช่ไหมว่า การมีไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพเป็นเรื่องดี แต่หากเคร่งครัดหรือทำแบบหักโหมมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าผลดี