svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

WHO เผยแอลกอฮอล์คร่าชีวิตคนทั่วโลก 2.6 ล้านรายต่อปี กลุ่มอายุ 20-39 ปีมากสุด

28 มิถุนายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

รายงานฉบับใหม่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เผยมีผู้เสียชีวิตจากแอลกอฮอล์และยาเสพติดทั่วโลกกว่า 3 ล้านรายต่อปี มีสาเหตุมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 2.6 ล้านราย ชี้ส่วนใหญ่เป็น “ผู้ชาย” ขณะที่กลุ่มอายุ 20-39 ปีครองแชมป์ยอดผู้เสียชีวิต

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization :WHO) เผยรายงานการเก็บสถิติทั่วโลก พบว่ามีผู้คนมากกว่า 3 ล้านคนต่อปีเสียชีวิตเหตุจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด จากตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตนี้มีสาเหตุมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 2.6 ล้านคน (จากการรวบรวมข้อมูลล่าสุดในปี 2562) หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของการเสียชีวิตทั้งหมดปีดังกล่าว โดยจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดมาจากภูมิภาคยุโรปและแอฟริกา

ในขณะที่รายงานฉบับใหม่ล่าสุดขององค์การอนามัยโลก เรื่อง “Global status report on alcohol and health and treatment of substance use disorders” ระบุว่า การเสียชีวิตเหตุจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติดส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับ “ผู้ชาย” โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 20-39 ปี โดยอัตราการเสียชีวิตสูงสุดส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อย รองลงมาคือประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำในประเทศที่มีรายได้สูง

 

“การใช้สารเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลเสียต่อสุขภาพของบุคคลอย่างรุนแรง เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเรื้อรัง ปัญหาสุขภาพจิต และทำให้ผู้ป่วยที่สามารถรอดชีวิตได้เสียชีวิตหลายล้านรายทุกปี” นายแพทย์เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการขององค์การอนามัยโลก กล่าว

มีคนประมาณ 400 ล้านคน หรือราว 7% ของประชากรโลก ที่ตกอยู่กับความผิดปกติจากการดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด ในจำนวนนี้มากกว่า 200 ล้านคนติดแอลกอฮอล์ และต้องพึ่งพาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะรู้สึกว่าไม่สามารถทำงานได้หากไม่ดื่ม

WHO เผยแอลกอฮอล์คร่าชีวิตคนทั่วโลก 2.6 ล้านรายต่อปี กลุ่มอายุ 20-39 ปีมากสุด

ทั้งนี้ จากสำรวจผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์พบว่า มีการดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉลี่ย 2 ครั้งต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เสี่ยงส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเป็นอันตรายต่อชีวิต ขณะที่ผู้ดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 38 ดื่มแอลกอฮอล์ครั้งละ 4-5 แก้วต่อวันหรือมากกว่านั้นในบางเดือน ซึ่งถือเป็นปริมาณการดื่มที่หนัก โดยภูมิภาคที่มีระดับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อหัวสูงที่สุด คือภูมิภาคยุโรปและอเมริกา 

สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือหนุ่มสาวยุคใหม่ อีกทั้งยังพบว่าจำนวนนักดื่มหน้าใหม่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ในหลายประเทศทั่วโลก แม้ผลศึกษาจะชี้ว่าตัวเลขอันตรายที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วโลกจะลดลงบางส่วนตั้งแต่ปี 2553 แต่ภาระด้านสาธารณสุขและสังคมที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

สำหรับประเทศไทย มีปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ต่อหัวประชากรอยู่ที่ 8.3 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน เทียบเท่ากับนักดื่มจากประเทศเวียดนาม และรองจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ดื่ม 10.4 ลิตรต่อคนต่อปี

ส่วนการดื่มสุรานอกระบบภาษี ประชากรไทยดื่มสุรานอกระบบภาษีในสัดส่วนร้อยละ 20.56 ของปริมาณการดื่มทั้งหมดซึ่งตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศอาเซียน ร้อยละ 39.8 ของปริมาณการดื่มทั้งหมด เป็นตัวเลขที่ยังถือว่าน่าเป็นห่วงหากไม่มีมาตรการดูแลและควบคุมอย่างครอบคลุม

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกมีความกังวลเรื่องสุขภาพของประชากรทั่วโลก รายงานฉบับนี้จึงพยายามกระตุ้นให้ทั่วโลกเห็นถึงสถานการณ์และปัญหาของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาเสพติด เพื่อเร่งให้ทุกประเทศทั่วโลกดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.5 ประเด็นการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่เป็นอันตราย เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีและเท่าเทียมกันให้ผู้คนในสังคมโลก

 

logoline