svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

“โรคเบาหวาน” กับภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง ภัยอันตรายที่บานปลายสู่ 7 โรคร้ายแรง

รวม 7 ภาวะแทรกซ้อน ภัยอันตรายของ “โรคเบาหวาน” ที่ต้องระวัง หลังการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของนักแสดงอาวุโส “โฉมฉาย ฉัตรวิไล” หนึ่งในผู้ป่วยโรคเบาหวานเรื้อรังที่ต้องกินยารักษาอาการมากว่า 40 ปี

เปิดสาเหตุการเสียชีวิตของ “แม่แอ๊ด-โฉมฉาย ฉัตรวิไล”

ข่าวการจากไปของ “แอ๊ด-โฉมฉาย ฉัตรวิไล” นักแสดงอาวุโสที่เสียชีวิตด้วยวัย 73 ปี ได้รับการเปิดเผยจาก “อาร์ต-พนิตนาฎ ฉัตรวิไล” ลูกสาวเพียงคนเดียวของแม่แอ๊ด ว่าแม่แอ๊ดป่วยเป็น “โรคเบาหวาน” มาตั้งแต่สมัยสาวๆ ช่วงอายุ 30 ปี ซึ่งที่ผ่านมาก็กินยารักษาอาการมาตลอด 40 กว่าปี และยังทำงานตามปกติแม้สุขภาพจะไม่เต็มร้อย ต่อมาโรคเบาหวานส่งผลกระทบไปถึงอวัยวะอื่น เช่น หัวใจ และไต คุณแม่เริ่มน้ำตาลในเลือดเริ่มสวิง ขึ้นๆ ลงๆ จนทรุด ประกอบกับเมื่อปี 2559 ได้ตรวจพบติ่งเนื้อในสมอง ซึ่งส่งผลต่อความจำ ทำให้ความจำไม่ค่อยดีจนไม่สามารถจำบทได้ แม่แอ๊ดจึงตัดสินใจอำลาวงการ และต้องกลับมารักษาอย่างจริงจัง จน 3 เดือนที่ผ่านมา อาการป่วยของคุณแม่ทรุดลง น้ำหนักลดจนผอมลงมาก ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล ต้องล้างไต ก่อนจากไปอย่างสงบ โดยที่ทางครอบครัวไม่ได้เตรียมใจไว้ก่อน 

ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของ “แม่แอ๊ด-โฉมฉาย ฉัตรวิไล”

ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเบาหวาน 600 ล้านคน

“โรคเบาหวาน” นับเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ โดยทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนมากกว่า 500 ล้านคน และเสียชีวิตปีละ 6.7 ล้านคน โดยในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มเป็นจำนวนกว่า 600 ล้านคน (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข) ซึ่งไม่ได้มีเพียงเฉพาะผู้สูงอายุเพียงเท่านั้น แต่ในปัจจุบันยังพบว่าคนรุ่นใหม่มีความเสี่ยง เป็นเบาหวานสูงเพิ่มขึ้นด้วย โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต และการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม

รู้หรือไม่? … 2 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานเสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อน อันตรายที่ร้ายกว่าโรค ทั้งยังเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยต้องสูญเสียอวัยวะ มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง และมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายในผู้ป่วย “โรคเบาหวาน”

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมาเป็นเวลานานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป มีโอกาสมากกว่าที่จะเกิด "ภาวะแทรกซ้อน" โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามที่กำหนด ซึ่งความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนนั้นก็แตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล โดยภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  • ภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลัน

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดจากปลายนิ้วต่ำกว่าหรือเท่ากับ 70 มิลลิกรัม / เดซิลิตร มักมีอาการแสดงเมื่อมีน้ำตาลในเลือดต่ำ และอาการจะหายไปเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

อาการ: มือสั่น ใจสั่น เหงื่อออก รู้สึกหิว มึนงง สับสน อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง ชัก หมดสติ

หลักการแก้ไข: ยึดหลัก 15: 15: 15 คือให้ผู้ป่วยรับประทานคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม เช่น น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ น้ำผลไม้หรือน้ำอัดลม 1 แก้ว  ลูกอม 3 เม็ด เป็นต้น หลังจากนั้น 15 นาทีให้ตรวจดูค่าน้ำตาลที่ปลายนิ้ว หากค่าน้ำตาลมากกว่า 70 มิลลิกรัม / เดซิลิตร ให้รับประทานอาหารมื้อหลักทันทีเมื่อถึงมื้ออาหาร แต่หากยังต่ำกว่าระดับที่ระบุ ให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตซ้ำอีก 15 กรัม และเว้นอีก 15 นาทีก่อนตรวจระดับน้ำตาลอีกครั้ง แต่หากผู้ป่วยมีอาการมึนงง ไม่รู้สึกตัวหรือชัก ห้ามให้อาหารทางปากเด็ดขาดเพราะอาจจะสำลักลงหลอดลมได้ ต้องรีบน้ำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

  • ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเฉียบพลัน

เป็นภาวะเลือดข้นจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงรุนแรง (Hyperosmolar Hyperglycemic state, HHS) คือภาวะน้ำตาลในเลือดสูงทีมีน้ำตาลในเลือดมากกว่า 600 มิลลิกรัม / เดซิลิตร และออสโมลาลิตีในเลือดมากกว่า 320 มิลลิออสโมล / กก. ร่วมกับระดับความรู้สึกตัวลดลง

อาการ: คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไม่สบายตัว หอบเหนื่อย ปัสสาวะมาก ซึม ชัก หมดสติ

หลักการแก้ไข: หากผู้ป่วยมีอาการจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเฉียบพลัน “ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที”

 

“7 ภาวะแทรกซ้อน” อันตรายในอันตรายของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

1. เบาหวานขึ้นตา ภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานนานกว่า 10 ปี เสี่ยงเป็น “เบาหวานขึ้นตา” มากกว่า 80% เนื่องจากควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดีเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดตีบแข็งเร็วขึ้น เกิดปัญหากับอวัยวะที่เส้นเลือดนั้นไปหล่อเลี้ยง กลายเป็นภาวะแทรกซ้อนกับอวัยวะต่างๆ หนึ่งในนั้น คือ “ดวงตา” ทำให้สายตาพร่ามัว  มองเห็นภาพซ้อน หรือเกิดต้อกระจก และร้ายแรงถึงขั้นตาบอดได้

 

2.ไตวาย ภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน

เบาหวานเป็นสาเหตุของ "โรคไตวายเรื้อรัง" หนึ่งของการเสียชีวิตของผู้ป่วยทั้งเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นอาการที่มีความสัมพันธ์กับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และระดับความดันโลหิต มักพบอาการโปรตีนรั่ว สังเกตปัสสาวะเป็นฟองและมีอาการบวม หากยังไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะส่งผลให้การทำงานของไตลดลง และเกิดภาวะไตวายเรื้อรังในที่สุด จนต้องรักษาด้วยการฟอกเลือด หรือล้างไต

 

3.มือชา เท้าชา ภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน

ภาวะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการชาที่ปลายเท้า ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลที่เท้า โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตันร่วมด้วย เป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจต้องถูกตัดนิ้วหรือตัดขา ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่เส้นประสาท ได้แก่ ระดับน้ำตาลในเลือด ภาวะความดันโลหิตสูง และการสูบบุหรี่ เป็นต้น

 

4.โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน นับว่าเป็นโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายมาก เพราะทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวมากกว่าผู้ป่วยทั่วไป 1.5 เท่าละมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าเกือบ 2 เท่า ซึ่งผู้ป่วยจะมีภาวะความดันโลดหิตและไขมันในเลือดสูง แต่อาการนี้ผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้ได้เอง ดังนั้นจะต้องได้รับการตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอ

 

5.ภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน ภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากหลอดเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณสมองตีบตัน ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานพิการหรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยโอกาสเกิดหลอดเลือดสมองตีบตันจะสูงมากขึ้นในผู้เป็นเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ทำให้อวัยวะที่สมองส่วนนั้นควบคุมอยู่อ่อนแรงลงไป เกิดอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต อายุถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อความเสี่ยงนี้ ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 70 ปีมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สูงถึง 3 เท่า

 

6.โรคผิวหนัง ภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน

อีกภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวานที่พบมากคือโรคผิวหนัง ที่เกิดจากร่างกายขาดน้ำ ทำให้ผิวหนังแห้งและเกิดการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะเชื้อรา ทำให้เกิดอาการคันและเกิดเป็นแผลตามผิวหนัง ผิวแห้ง ผิวแตก หนังหนา หรือเกิดหนังแข็งๆ ที่ฝ่าเท้า ทั้งนี้ แผลที่เกิดขึ้นมักจะหายยากและเกิดการอักเสบ ผู้เป็นเบาหวานจึงควรหมั่นดูแลรักษาผิวให้สะอาดอยู่เสมอ ทาครีม หรือโลชั่นบำรุงผิว คอยสำรวจร่างกายอยู่เสมอว่ามีตุ่ม หรือแผลที่บริเวณใดบ้าง ถ้าเกิดมีฝีหรือแผล ควรรีบรักษาตั้งแต่เริ่มต้น

 

7.โรคปริทันต์ ภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน

เบาหวานทำให้เกิดปัญหาในช่องปาก โดยเฉพาะเหงือกและฟันได้เช่นกัน ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานต่อช่องปากมีสาเหตุเช่นเดียวกับโรคแทรกซ้อนในอวัยวะอื่น ซึ่งอาการที่พบในช่องปากของผู้เป็นโรคเบาหวาน คือ ปากแห้ง ลิ้นอักเสบ อาจมีการติดเชื้อรา หากใส่ฟันปลอมมักเกิดมีแผลได้ง่าย มีเหงือกอักเสบรุนแรง โรคในช่องปากที่เด่นที่สุดก็คือ โรคปริทันต์

 

10 เรื่องสำคัญที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปฏิบัติ

  1. เลือกรับประทานอาหารจำพวกแป้งจากธัญพืชที่ไม่ขัดสี ในปริมาณที่พอเหมาะ
  2. พยายามงดอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นหวาน มัน หรือเค็ม
  3. รับประทานผัก และผลไม้ที่ไม่หวานจัดเพื่อเพิ่มกากใยอาหาร
  4. ควบคุมน้ำหนัก
  5. งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา
  6. ออกกำลังกายเป็นประจำในแบบแอโรบิควันละ 30 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ตามคำแนะนำของแพทย์
  7. รับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต หรือเบาหวานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  8. ระวังอย่ารับประทานยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะยากลุ่มที่เป็นเสตียรอยด์ ยาฮอร์โมน หมั่นศึกษาหาความรู้ในการดูแลตนเอง
  9. ทำจิตใจให้สงบ และผ่อนคลายความเครียด ไม่โกรธ หรือโมโหง่าย
  10. ติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ