svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ตร.CIB เตือนภัย ระวังมิจฉาชีพสร้างเพจ-ไลน์ปลอม อ้างเป็นหน่วยงาน หลอกเอาเงิน

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เตือนภัย ระวังมิฉาชีพสร้างเพจเฟซบุ๊กและไลน์ปลอม แอบอ้างเป็นหน่วยงาน หลอกลวงประชาชนสูญเงินเป็นจำนวนมาก พร้อมแนะตัวอย่าง จุดสังเกตบัญชีโซเชียลของมิจฯ รู้ไว้จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ

6 ตุลาคม 2567 จากกรณีกลุ่มมิจฉาชีพสร้างเพจเฟซบุ๊ก และแอปพลิเคชันไลน์ปลอม ใช้ชื่อเป็นหน่วยงานตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) หรือสร้างบัญชีที่มีชื่อคล้ายกับเพจของหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย, ตำรวจ หรือ ศูนย์ช่วยเหลือทางออนไลน์ต่างๆ จากนั้นจะมีการซื้อโฆษณาจากแพลตฟอร์ม เพื่อให้ประชาชนเห็นบัญชีปลอมของมิจฉาชีพอย่างแพร่หลาย ทำทีให้คำปรึกษาเรื่องกฎหมาย หรือคดีความต่างๆ หรืออ้างว่าสามารถรับแจ้งความและติดตามเงินมาให้ผู้เสียหายได้


ตร.CIB เตือนภัย ระวังมิจฉาชีพสร้างเพจ-ไลน์ปลอม อ้างเป็นหน่วยงาน หลอกเอาเงิน
จากนั้นมิจฉาชีพจะส่งบัญชีไลน์ให้ผู้เสียหายแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และติดต่อพูดคุยผ่านทางไลน์ให้ผู้เสียหายส่งข้อมูลส่วนตัวโดยอ้างว่าเป็นการรับสิทธิขอเงินคืน ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อหลงโอนเงินจ่ายค่าดำเนินการ เกิดความเสียหายจำนวนมาก 

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันนี้ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) มีการจัดทำบัญชี เพจเฟซบุ๊ก 1 บัญชีชื่อ "ตำรวจสอบสวนกลาง" และมีสัญลักษณ์บลูติ๊ก (Blue tick) และมีไลน์ขึ้นมาเพียง 1 บัญชี ชื่อ "CIBAOC" โดยจะสามารถเพิ่มเพื่อนผ่านไอดีไลน์ ชื่อ "cibaoc.staff" เท่านั้น โดยบัญชีไลน์ดังกล่าวมีจุดประสงค์สำหรับติดต่อกับประชาชนในกรณี "ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เสียหายเกี่ยวกับข้อมูลลิงก์บัญชีปลอม หรือ url" จากคดีซึ่งเคยมีการแจ้งความไว้แล้ว เพื่อทำการปิดกั้นลิงก์ออกจากระบบ ทำให้มิจฉาชีพไม่สามารถใช้บัญชี หรือ ลิงก์ url ในการหลอกลวงผู้เสียหายคนอื่นได้อีก ซึ่งหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเจ้าหน้าที่จะทำการติดต่อกลับโดยใช้หมายเลข 025139197 และ 0658270902 เท่านั้น 

ทั้งนี้ ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอยืนยันว่าแพลตฟอร์มออนไลน์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ "ไม่มีการทำ" ดังต่อไปนี้  

  1.  ไม่มีการรับแจ้งความ หรือ ดำเนินการคืนเงินให้ผู้เสียหาย ผ่านทางแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ  
  2. ไม่มีการขอให้ประชาชนโอนเงินค่าดำเนินการ หรือ ค่าใช้จ่ายใดๆ ผ่านบัญชีธนาคารในรูปแบบต่างๆ  
  3. ไม่มีการขอข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ เช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน อาชีพ อายุ ข้อมูลธนาคาร หรือ บัตรเครดิต  
  4. ไม่มีการซื้อโฆษณาจากแพลตฟอร์ม (ยิงแอดโฆษณา) มากผิดปกติ โดยจะสังเกตเพจที่ยิงแอดโฆษณาได้จากคำว่า "ได้รับการสนับสนุน" 


ตัวอย่าง จุดสังเกต "บัญชีโซเชียลมีเดียของมิจฉาชีพ" 
 
ตร.CIB เตือนภัย ระวังมิจฉาชีพสร้างเพจ-ไลน์ปลอม อ้างเป็นหน่วยงาน หลอกเอาเงิน

  1. มีการซื้อโฆษณาจากแพลตฟอร์ม (ยิงแอด) สังเกต จาก คำว่า "ได้รับการสนับสนุน" เพื่อให้ประชาชนเห็นอย่างแพร่หลาย โดยจะแอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือติดตามเงินคืนให้กับผู้เสียหายในคดีต่างๆ ได้  
  2. เมื่อผู้เสียหายสนใจ มิจฉาชีพจะดำเนินการส่งลิงก์บัญชีไลน์ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่พูดคุยขอข้อมูลจากผู้เสียหาย จากนั้นจะขอให้โอนเงิน เป็นค่าดำเนินการ หรือ เป็น ขั้นตอนเพื่อให้ได้รับเงินคืน



ตร.CIB เตือนภัย ระวังมิจฉาชีพสร้างเพจ-ไลน์ปลอม อ้างเป็นหน่วยงาน หลอกเอาเงิน
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : ตำรวจสอบสวนกลาง