svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เปิดโฉมหน้า 15 เห็ดพิษ และ 5 ชนิดเห็ดกินได้ vs กินไม่ได้ พร้อมจุดสังเกต

แพทย์เตือนระวังเห็ดพิษผลผลิตช่วงหน้าฝน เผยตัวเลข 5 ปีย้อนหลังพบสถานการณ์อาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดพิษ 90 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยรวม 371 ราย เสียชีวิต 32 ราย พร้อมดูโฉมหน้า 15 เห็ดพิษ และ 5 ชนิดเห็ดที่คล้ายกันมาก รวมถึงความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับการจำแนกเห็ดที่ชาวบ้านชอบทำ

ในช่วงฤดูฝนของแต่ละปีจะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นประจำ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประชาชนนิยมเก็บเห็ดป่าในธรรมชาติมากิน แต่เนื่องจากเห็ดป่านั้นมีทั้ง "เห็ดที่กินได้" และ "เห็ดพิษ" ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้

พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ แพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่าเห็ดป่าหรือเห็ดขึ้นเองตามธรรมชาติหลากหลายชนิด มีทั้งเห็ดกินได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะภายนอกใกล้เคียงกันมากมักแยกได้ยาก จึงทำให้พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าเขา ซึ่งข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค 5 ปีย้อนหลัง พบสถานการณ์อาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดพิษ 90 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยรวม 371 ราย เสียชีวิต 32 ราย

ในปี 2567 ตั้งแต่ 1 มกราคม – 10 มิถุนายน มีรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดพิษแล้ว 10 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยรวม 36 ราย  ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย เสียชีวิต 4 ราย โดยมีรายงานใน 5 จังหวัด ได้แก่

  • จังหวัดเลย 5 เหตุการณ์ ป่วย 15 ราย เสียชีวิต 1 ราย
  •  จังหวัดตาก 2 เหตุการณ์ ป่วย 9 ราย เสียชีวิต 2 ราย
  • จังหวัดแม่ฮ่องสอน 1 เหตุการณ์ ป่วย 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย
  • จังหวัดยโสธร 1 เหตุการณ์ ป่วย 6 ราย ไม่เสียชีวิต
  • จังหวัดชัยภูมิ 1 เหตุการณ์ ป่วย 5 ราย ไม่เสียชีวิต

เห็ดพิษ

เรื่องของเห็ดพิษ สำนักป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น

สำหรับแหล่งที่มาของเห็ดได้มาจากป่าเขาหรือสวนแถวบ้าน หรือพื้นที่เคยเก็บเป็นประจำทุกปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย 36-60 ปี 23 ราย คิดเป็น 64% รองลงมาคือ วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 ราย คิดเป็น 19% และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น 18-35 ปี 6 ราย คิดเป็น 17 %

ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 4 ราย อยู่ในช่วงอายุ 19-45 ปี เห็ดที่พบเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต ได้แก่ เห็ดระโงกพิษ 3 ราย และอีก 1 ราย ไม่ทราบชนิดเห็ด โดยจากการประเมินปัจจัยเสี่ยงพบว่า ผู้เสียชีวิต 3 ราย ไม่มีความรู้ในการแยกชนิดเห็ด และผู้เสียชีวิต 1 ราย มีอาชีพเก็บเห็ดป่า ระยะเวลาที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการหลังกินเห็ดพิษ มีตั้งแต่เร็วเป็นนาที หรือนานถึงหลายชั่วโมง โดยผู้ป่วยมีอาการตั้งแต่เล็กน้อย ได้แก่ วิงเวียน อาเจียนปวดท้อง ถ่ายเหลว จนถึงอาการรุนแรง ไตวาย ตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด

5 ชนิดเห็ดที่คล้ายกันจนชวนเข้าใจผิด

เห็ดที่คล้ายกันจนชวนเข้าใจผิด

1 เห็ดเผาะ กินได้ vs เห็ดไข่หงส์ เห็ดพิษ

ลักษณะภายนอกดูคล้ายกันต่างกันเพียงเห็ดเพาะไม่มีราก

เห็ดที่คล้ายกันจนชวนเข้าใจผิด

2 เห็ดโคน กินได้ vs เห็ดหมวกจีน เห็ดพิษ

ผิวเรียบกับผิวเป็นปุ่มนูน เป็นริ้วหยาบ และดูได้จากสี

เห็ดที่คล้ายกันจนชวนเข้าใจผิด

3 เห็ดระโงกขาว เห็ดไข่ห่าน กินได้ vs เห็ดระโงก หินระงาก เห็ดตายซาก เห็ดพิษ

สังเกตตรงหมวกเห็ด สี และปุยของเห็ด

เห็ดที่คล้ายกันจนชวนเข้าใจผิด

4 เห็ดถ่านใหญ่ กินได้ vs เห็ดถ่านเลือด เห็ดพิษ

ต่างกันตรงน้ำยางเมื่อผ่าดอกเห็ด

เห็ดที่คล้ายกันจนชวนเข้าใจผิด

5 เห็ดระโงกไส้เดือน เห็ดระโงหขี้ไก่เดือน เห็ดไส้เดือน กินได้ vs เห็ดระโงกน้ำตาล เห็ดพิษ

ไม่สามารถจำแนกได้ด้วยตาเปล่า ต้องอาศัยความชำนาญ

 

ชวนล้างความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับการจำแนกเห็ดกินได้ vs เห็ดพิษ

เห็ดที่มีรอยแมลงกัดเป็นเหตุที่กินได้ ---> ไม่เป็นความจริง

เห็ดสีฉูดฉาดเป็นเห็ดพิษ ส่วนเห็ดสีขาวเป็นเห็ดกินได้ ---> ไม่เป็นความจริง

ต้มเห็ดกับข้าวแล้วข้าวไม่เปลี่ยนสีเป็นเห็ดกินได้ ---> ไม่เป็นความจริง

ต้มเห็ดแล้วใช้ช้อนเงินคน ถ้าช้อนเปลี่ยนเป็นสีดำเป็นเห็ดพิษ ---> ไม่เป็นความจริง

ต้มเห็ดกับหัวหอม ถ้าน้ำเปลี่ยนเป็นสีดำเป็นเห็ดพิษ ---> ไม่เป็นความจริง

ใช้ปูนกินหมากป้ายที่เห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษ เห็ดจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงปนน้ำตาล ---> ไม่เป็นความจริง

 

พฤติกรรมเสี่ยงในการกินเห็ด

  • ดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับกินเห็ดทำให้เกิดพิษ
  • กินเห็ดที่ไม่รู้จักหรือไม่แน่ใจว่ากินได้หรือไม่
  • เห็ดพิษหลายชนิดไม่สามารถทำลายพิษได้ด้วยความร้อน ดังนั้น จึงห้ามกินเห็ดดิบหรือเห็ดเน่าเสีย

 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นกรณีกินเห็ดพิษ

ให้กินผงถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal) เพื่อดูดซับพิษและจิบน้ำเพื่อชดเชยของเหลวที่เสียไป และควรรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด พร้อมแจ้งประวัติ การกินเห็ดและนำตัวอย่างเห็ดที่เหลือหรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย รวมถึงแจ้งผู้กินเห็ดจากแหล่งเดียวกันให้สังเกตอาการ

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนซื้อและกินเห็ดที่มีการเพาะพันธุ์จากฟาร์มเห็ดหรือแหล่งที่มีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย หลีกเลี่ยงการเก็บหรือกินเห็ดป่าหรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่

นอกจากนี้ ยังไม่ควรเก็บเห็ดบริเวณที่มีการใช้สารเคมี รวมถึงไม่กินเห็ดดิบ และไม่กินเห็ดร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ดังนั้น “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน” หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422