svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ตอบข้อสงสัยเอาใจคนป่วย! ติดโควิด กินทุเรียนได้ไหม? ผลไม้อะไรควรกิน-ควรงด?

ห้ามใจไม่ไหว!! ติดโควิด กินทุเรียนได้ไหม? มาดูกัน พร้อมเผยผลไม้อะไรควรกิน-อะไรควรเลี่ยงระหว่างป่วย ลิสต์มาให้แล้ว

หนึ่งปีมีครั้งเลยอดใจไม่ไหว สำหรับผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 ในช่วงฤดูกาลทุเรียนแล้วอยากกินผลไม้โปรดชนิดนี้ ต้องมีการค้นหาข้อมูล “ติดโควิด กินทุเรียนได้ไหม?” กันบ้าง โดยสถานการณ์โควิด-19 สัปดาห์ล่าสุด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 สัปดาห์ที่ 21 ปี 2567 (ระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2567) มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่รักษาในโรงพยาบาล 1,863 ราย เฉลี่ยรายวัน 266 รายต่อวัน ยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปี 2567 อยู่ที่ 20,483 ราย

ขณะที่ผู้ป่วยปอดอักเสบยังสูงขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 738 ราย คาดว่าจะเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดตั้งแต่ต้นปี 2567  ใส่เครื่องช่วยหายใจ 316 คน และมีผู้เสียชีวิตในสัปดาห์นี้ 6 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้อายุระหว่าง 20-49 ปี 1 ราย สะสมรวมตั้งแต่ต้นปีนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 132 ราย

สถานการณ์โควิด-19 สัปดาห์ล่าสุด

ติดโควิด กินทุเรียนได้ไหม?

หากช่วงนี้เกิดติดโควิด-19 ขึ้นมาแล้วอยากกินโน่นกินนี่ก็ต้องคิดก่อนว่าจะสิ่งที่กินนั้นจะไปทำให้อาการป่วยที่เป็นอยู่หนักขึ้นไหม แม้จะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพอย่างผักหรือผลไม้บางชนิดก็ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะราชาผลไม้อย่าง “ทุเรียน” ที่มีคนสงสัยกันมากเลยว่าช่วงที่ป่วยอยู่จะสามารถกินทุเรียนได้หรือไม่?

จากการรวบรวมข้อมูลทำให้ได้คำตอบว่า “ผู้ป่วยโควิด-19 สามารถกินทุเรียนได้” เพราะจริงๆ แล้วทุเรียนเองไม่ได้เป็นปัญหาอะไรกับผู้ป่วยโควิด เนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสต่อระบบทางเดินหายใจ การกินทุเรียนไม่ได้มีสารอาหารหรือสารพิษใดๆ ที่ไปส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ

แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือในผู้ป่วยที่กำลังมีอาการเจ็บคอ หรือร้อนในอยู่ ควรงดการกินทุเรียนออกไปก่อน เนื่องจากทุเรียนจัดเป็นอาหาร “ธาตุร้อน” มีกรดซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือกำมะถันสูง หากกินเข้าไปมากๆ จะยิ่งทำให้อาการร้อนในหนักขึ้น เพิ่มอาการเจ็บคอ เป็นแผลในปาก ทำให้อาการป่วยหายช้าลง

นอกจากนี้ ทุเรียนยังเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง มี “น้ำตาลสูง” จึงไม่เหมาะกับ “ผู้ป่วยเบาหวาน” ทั้งยังเป็นผลไม้ที่มี “โพแทสเซียมสูง”  ซึ่ง “ผู้ป่วยโรคไต” จะไม่สามารถขับโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสส่วนเกินออกมาได้เท่ากับคนปกติ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไตจึงควรเลี่ยงทุเรียนจะดีกว่า

 

ผลไม้อะไร “ควรเลี่ยง” เมื่อติดโควิด-19

ผู้ป่วยโควิดควรเลี่ยงการกินผลไม้ที่มีเปลือกบางเพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน เช่น องุ่น แอปเปิล สาลี่ เพราะเป็นผลไม้ที่มีเชื้อโรคสะสมได้ง่าย รวมทั้งเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ที่คั้นจากผลไม้สดที่มีเปลือกด้วย อย่างน้ำส้มคั้น ซึ่งเชื้อโรคที่ติดอยู่บนเปลือกอาจปนเปื้อนในขณะที่คั้นน้ำ

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท Junk Food อาทิ อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารหมักดอง อาหารปิ้งย่าง ของทอด ของมัน หรืออาหารรสจัด อาหารย่อยยาก รวมทั้งควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาหารเหล่านี้มีผลทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดต่ำลง

 

ผลไม้อะไร “ควรกิน” เมื่อติดโควิด-19

สำหรับผลไม้ที่คนติดโควิดควรกินให้มากก็คือ ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง อย่างฝรั่ง กีวี่ มะขามป้อม ลิ้นจี่ สตรอเบอร์รี่ เพื่อช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกายสู้กับโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และควรเลือกชนิดมีเปลือกหนา เช่น ส้มโอ สับปะรด เสาวรส แก้วมังกร โดยล้างเปลือกให้สะอาด ปอกแบบถูกสุขลักษณะก็จะลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆ ได้ และแนะนำให้เน้นกินผลไม้เป็นผลสดมากกว่าน้ำผลไม้ เพราะจะมีสารอาหารครบถ้วนกว่า

 

อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโควิด-19

ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารแบคทีเรียต่ำ (Low-Bacterial Diet) ซึ่งก็คืออาหารปรุงสุกใหม่และสะอาด ซึ่งจะช่วยลดอาการติดเชื้อไวรัสในผู้ป่วยลงได้ เน้นกินอาหารปริมาณน้อยแต่กินบ่อยๆ กินอาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก กินอาหารย่อยง่าย เช่น ปลา และดื่มเครื่องดื่มไม่แช่เย็น แนะนำน้ำอุ่น น้ำส้ม น้ำมะนาว น้ำขิง

นอกจากนี้ ควรเลือกกินอาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม เนยแข็ง เต้าหู้ รวมทั้งบริโภคอาหารที่มีจุลินทรีย์สุขภาพ หรือโพรไบโอติกส์ (Probiotics) เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว โดยควรเลือกชนิดที่มีนํ้าตาลน้อย กินร่วมกับอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง กล้วย หัวหอมใหญ่ กระเทียม เป็นต้น เพื่อเป็นอาหารให้จุลินทรีย์สุขภาพ และยังช่วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

อีกส่วนที่แนะนำให้กินคือกลุ่มวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่มีส่วนช่วยให้ร่างกายฟื้นฟู แข็งแรง และสร้างภูมิคุ้มกัน ได้แก่

  • วิตามินซี ที่พบมากในผักและผลไม้สด เช่น ส้ม มะละกอ ฝรั่ง มะนาว มะเขือเทศ พริกหวาน เป็นต้น ควรกินแบบสด หากผ่านความร้อนควรนึ่งหรือผัดในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อรักษาคุณค่าจากวิตามินซีไว้ได้ดียิ่งขึ้น
  • วิตามินเอ พบมากในเครื่องในสัตว์ ไข่แดง นม ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียวเข้ม ผักและผลไม้สีเหลืองและสีส้ม อย่างตําลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง มันเทศสีเหลือง มะละกอสุก เป็นต้น
  • วิตามินดี มีมากในปลา เช่น ปลานิล ปลาทับทิม เห็ด ไข่แดง เป็นต้น
  • วิตามินอี พบได้ในไข่ ผักและผลไม้ต่างๆ เช่น ถั่ว นํ้ามันถั่วเหลือง นํ้ามันมะกอก นํ้ามันดอกทานตะวัน อะโวคาโด เป็นต้น
  • แร่ธาตุสังกะสี ที่พบมากในเนื้อสัตว์ เครื่องใน ตับ หอยนางรม ข้าวกล้อง เป็นต้น