svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

มะเร็งปอดในผู้หญิงไม่สูบบุหรี่ คาดปี 2573 จะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 35%

31 พฤษภาคม "วันงดสูบบุหรี่โลก" ร่วมรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้คนไทยตระหนักถึง "โรคมะเร็งปอด" ขณะที่ WHO คาดการณ์อีก 6 ปี จะมีผู้หญิงไม่สูบบุหรี่ป่วยมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 35%

วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี ถูกกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เป็น “วันงดสูบบุหรี่โลก” (World No Tobacco Day) ล่าสุดด้วยความมุ่งมั่นส่งเสริมการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดในระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะในผู้หญิงซึ่งมีมากกว่า 8,300 คน คิดเป็น 35% เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยมะเร็งปอดเพศชายและหญิงรายใหม่ทั้งหมดในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2565  [1] โรช ไทยแลนด์ ร่วมกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงอันตรายและความสูญเสียทางสุขภาพและลดการเสียชีวิตและเพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งปอด

มะเร็งปอดในผู้หญิงไม่สูบบุหรี่ คาดปี 2573 จะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 35%

อีก 6 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วย "มะเร็งปอดรายใหม่เพศหญิง" ในไทยมากกว่า 11,200 คน

จากข้อมูลสถิติโดย WHO คาดการณ์ว่าในปี 2573 [2] หรือภายใน 6 ปีข้างหน้า จะมีผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่เพศหญิงในประเทศไทยมากกว่า 11,200 คน เพิ่มขึ้นประมาณ 35% จากจำนวนผู้ป่วยเพศหญิงรายใหม่จำนวน 8,300 คน จากปี 2565

แน่นอนว่าการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยมะเร็งปอดสะท้อนการแพร่กระจายของปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค ไม่เพี่ยงแค่บุหรี่ แอลกอฮอล์ มลพิษทางอากาศ  แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญอีก เช่น การกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม ที่เป็นต้นเหตุของโรคนี้เช่นกัน

โดยมีงานวิจัยบ่งชี้ว่าการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมที่เป็นต้นเหตุของ “โรคมะเร็งปอด” เช่น การกลายพันธุ์ในยีน EGFR (Epidermal Growth Factor Receptor) เป็นที่แพร่หลายในประชากรเอเชียอาจเป็นสาเหตุก่อมะเร็งปอด โดยไม่เกี่ยวโยงกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของผู้ป่วย การวิจัยระบุว่าประมาณ 30-40% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดในเอเชียมีการกลายพันธุ์ของยีน EGFR ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าประชากรชาวตะวันตกอย่างมีนัยสำคัญ [3]

จิตนิภา ภักดี ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 4

ประสบการณ์ตรงของผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 4

จิตนิภา ภักดี ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 4 เล่าว่า ตนเองเป็นมะเร็งปอดจากยีนกลายพันธุ์ ได้การวินิจฉัยเมื่อ 24 มีนาคม 2563 มะเร็งกระจายเต็มปอดทั้งสองข้าง เมื่อเอาชิ้นเนื้อไปวินิจฉัยจึงพบว่าเป็นมะเร็งปอดระยะ 4 ชนิดที่มียีนกลายพันธุ์ EGFR จึงเริ่มการรักษาด้วยการกินยามุ่งเป้าตัวที่หนึ่งได้ 17 เดือน หลังจากนั้นก็ดื้อยา จึงกินยามุ่งเป้าตัวที่สองต่ออีก 17 เดือน พอครบก็ดื้อยาอีก เลยเปลี่ยนการรักษาเป็นการให้คีโมเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2566 ที่ผ่านมา ตอนนี้จบคอร์สการให้คีโมทั้งหมด 13 เข็ม เป็นเวลา 1 ปีพอดี (มีนาคม 2567)

ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ อดีตผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายในหัวใจ และประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง

ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ย้ำมะเร็งปอดไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว

ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ อดีตผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายในหัวใจ และประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง เผยว่า “จริงๆ เรื่องของมะเร็งปอดในปัจจุบันไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว และเทรนด์ปัจจุบันก็เกิดกับผู้หญิงหรือคนทั่วไปที่อายุน้อยกว่า 30 ปีที่ไม่เคยสัมผัสบุหรี่เลย และไม่ได้เป็นคนรับควันบุหรี่มือสองเลยด้วยซ้ำ ซึ่งตรงนี้เป็นสถิติที่น่าสนใจมาก ในกลุ่มผู้ป่วยเองจึงมองว่าจริง ๆ แล้วเรื่องของการดูแลตัวเอง หากเริ่มมีภาวะเหนื่อยหรือไอ ก็อยากให้รีบไปหาหมอ เพื่อจะได้รู้ว่าตัวเองเป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อหรือโรคมะเร็งปอดหรือไม่ ถึงแม้จะไม่เคยมีประวัติในการสัมผัสหรือใกล้ชิดบุหรี่ก็ตาม อีกเรื่องหนึ่งคือเราอยากให้สังคมได้รับรู้ว่าปัจจุบันการเป็นมะเร็งปอดไม่ใช่เรื่องแย่ เพราะหากเราตรวจเจอเร็วและสามารถตรวจยีนพันธุกรรมได้ ดังนั้นอยากให้มองว่ามะเร็งปอดไม่ได้ต้องพาไปในเส้นทางที่เสียชีวิตทุกคน แต่อยู่ที่เราวินิจฉัยเจอเร็วแค่ไหน และเราก็สามารถวางแผนการรักษาควบคู่ไปกับหมอได้”

แพทย์หญิงศันสนี เลิศฤทธิ์เรืองสิน ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรช ไทยแลนด์

วิธีการรักษา "มะเร็งปอด" ในปัจจุบัน

แพทย์หญิงศันสนี เลิศฤทธิ์เรืองสิน ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรช ไทยแลนด์ กล่าวว่า โรชมุ่งมั่นค้นคว้าและวิจัยเทคโนโลยี เพื่อการรักษาในมะเร็งหลายชนิด รวมถึงโรคมะเร็งปอด ปัจจุบันมีวิธีการรักษาหลักๆ อยู่ 3 ประเภทนอกเหนือจากการฉายแสงและการผ่าตัด ได้แก่ เคมีบำบัด การใช้ยามุ่งเป้า และภูมิคุ้มกันบำบัด 

โดย "ยาเคมีบำบัด" จะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว แต่มักมาพร้อมกับผลข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้ เหนื่อยล้า และผมร่วง 

ในขณะที่ "ยามุ่งเป้า" เป็นการใช้ยาเพื่อกำหนดเป้าหมายเซลล์มะเร็งที่มีการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมบางอย่างโดยเฉพาะ เพื่อช่วยลดความเสียหายต่อเซลล์ปกติ ยังมีผลข้างเคียงเช่น ผื่นผิวหนัง อ่อนเพลีย ปากคออักเสบ

ส่วน "การบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน" เป็นการช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ แต่ยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปฏิกิริยาทางผิวหนัง อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ หากมีสัญญาณเบื้องต้น เช่น ไอเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุ อาจมีเสมหะปนเลือด น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือหายใจลำบาก หอบเหนื่อย  ควรรีบพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยรวดเร็วถูกต้อง

 

 

อ้างอิง

[1]  The Global Cancer Observatory, International Agency for Research on Cancer, WHO

[2] The Global Cancer Observatory, International Agency for Research on Cancer, WHO

[3] Mok, T.S., Wu, Y.L., Thongprasert, S., et al. (2009). "Gefitinib or Carboplatin-Paclitaxel in Pulmonary Adenocarcinoma." New England Journal of Medicine, 361, 947-957. DOI: 10.1056/NEJMoa0810699.ฃ