svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เปิดงานวิจัยใหม่ ชี้หน้ากากอนามัยและวัคซีน ต้านโอมิครอนกลายพันธุ์ไม่ไหว

ศูนย์จีโนมฯ ถอดบทเรียนประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัย เปลี่ยนแปลงตามสายพันธุ์โควิด-19 จากเดลต้าถึงโอมิครอน ชี้เอาไม่อยู่ พร้อมเผยข้อดีและข้อควรระวังของการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเปราะบางด้วยยาชนิดต่างๆ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1,882 ราย

KEY

POINTS

  • สถานการณ์โควิด-19 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1,882 ราย ปอดอักเสบสะสม 679 ราย ป่วยหนักต้องใส่เครื่องช่วยหายใจสะสม 281 ราย
  • งานวิจัยชี้หน้ากากอนามัยและวัคซีน ต้านโอมิครอนกลายพันธุ์ JN.1, KP.2, KP.3 ไม่อยู่
  • ยาต้านไวรัส “โมลนูพิราเวียร์” มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อเปรียบเทียบกับ “แพกซ์โลวิด” และ “โซโทรวิแมบ”

ยังคงต้องอัปเดตสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  เผยยอดผู้ติดเชื้อรายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 12-18 พฤษภาคม 2567 ระบุยอดผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 1,882 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 269 รายต่อวัน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว (1,880 ราย) และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทางด้านยอดผู้เสียชีวิตรายสัปดาห์ มีจำนวน 16 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 2 รายต่อวัน

ทั้งนี้ ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลสะสมแล้วตั้งแต่ 1 มกราคม-18 พฤษภาคม 2567 จำนวน 16,819 ราย เสียชีวิตสะสม 120 ราย ขณะเดียวกันจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบสูงขึ้นต่อเนื่องรวม 679 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 281 ราย ซึ่งคาดว่าจะเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดตั้งแต่ต้นปี 2567

หน้ากากอนามัยและวัคซีน ต้านโอมิครอนกลายพันธุ์ JN.1, KP.2, KP.3 ไม่อยู่

ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความ ว่า

"ขณะนี้โอมิครอนกลายพันธุ์ JN.1, KP.2, KP.3 ได้ระบาดไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ข้อมูลจากหลายประเทศชี้ให้เห็นว่า ทั้งหน้ากากอนามัยและวัคซีน ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์เหล่านี้ได้ดีมีประสิทธิภาพเหมือนกับสายพันธุ์ในอดีต ดังนั้น หากท่านและผู้ใกล้ชิดเป็นกลุ่มเปราะบางและมีการติดเชื้อโควิด-19 เพื่อลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ควรพบแพทย์เพื่อเข้าถึงยาต้านไวรัสภายในสามวันหลังจากติดเชื้อ"

 

ถอดบทเรียนประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัย : เปลี่ยนแปลงตามสายพันธุ์โควิด-19 จากเดลต้าถึงโอมิครอน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังคงดำเนินต่อไป พร้อมกับการเกิดขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน หนึ่งในคำถามสำคัญที่หลายคนสนใจคือ การสวมหน้ากากอนามัยยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเหมือนเดิมหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วงที่ไวรัสสายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอนระบาดเป็นสายพันธุ์หลัก

งานวิจัยจากอาสาสมัครในอังกฤษ 200,000 คน

งานวิจัยนี้ถอดบทเรียนจากข้อมูลของการสำรวจของ สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร ที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อ (UK Office of National Statistics Infection Survey) ซึ่งเก็บข้อมูลจากอาสาสมัครประมาณ 200,000 ราย ที่ทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุกสองสัปดาห์ในช่วงระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 - 7 พฤษภาคม 2565 และลงตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 

พบว่าในช่วงการระบาดของเดลต้า (ก่อนกุมภาพันธ์ 2565) การไม่ใส่หน้ากากมีความเสี่ยงสูงกว่าใส่หน้ากากเสมอ ทั้งในกลุ่มผู้ใหญ่ (ประมาณ 30%) และเด็กวัยเรียน (ประมาณ 10%) โดยผู้ใหญ่มีความแตกต่างของความเสี่ยงสูงกว่ามาก อาจเนื่องจากมีพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่าเด็ก เช่น การเข้าสังคมหรือทำงานนอกบ้าน

 

การเปลี่ยนแปลงของความเสี่ยงในช่วงสายพันธุ์โอมิครอน BA.2

เมื่อเข้าสู่ช่วงการระบาดของโอมิครอน BA.2 เป็นสายพันธุ์หลัก (หลังกุมภาพันธ์ 2565) พบการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ การสวมหน้ากากอนามัยไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของผู้ใหญ่อีกต่อไป และในกลุ่มเด็ก การไม่ใส่หน้ากากอนามัยกลับมีความเสี่ยงติดเชื้อต่ำกว่าใส่หน้ากากอนามัยเสมอ สาเหตุอาจเกิดจากการกลายพันธุ์ของโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 ที่สามารถติดเซลล์ในระบบทางเดินหายใจส่วนบนทำให้แพร่กระจายได้ง่ายขึ้นมาก หน้ากากอนามัยทั่วไปจึงป้องกันได้ไม่ดีเท่ากับสายพันธุ์ก่อนหน้าที่ติดเซลล์ในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง หรืออาจเกิดจากการใส่หน้ากากที่ไม่ถูกวิธี

การคาดการณ์ในอนาคต

หากมีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนรุ่นต่อๆ ไป เช่น โอมิครอน XBB, JN.1, KP.2 และ KP.3 ที่ส่วนหนามมีการกลายพันธุ์เข้าจับกับผิวเซลล์และหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น คาดว่าประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยในการป้องกันการติดเชื้ออาจลดลงไปอีก เนื่องจากไวรัสเหล่านี้อาจมีความสามารถในการแพร่กระจายที่สูงขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม การใช้หน้ากากที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น หน้ากาก N95 หรือ KN95 ร่วมกับการสวมใส่อย่างถูกวิธี อาจช่วยรักษาระดับการป้องกันให้ดีขึ้นได้

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมจาก ถอดบทเรียนประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัย: เปลี่ยนแปลงตามสายพันธุ์โควิด-19 จากเดลต้าถึงโอมิครอน

 

ถอดบทเรียนการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ในขณะเดียวกัน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ได้ถอดบทเรียนการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเปราะบางด้วยยาต้านไวรัส, ยาแอนติบอดีสำเร็จรูป, และวัคซีนในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน (ปรับปรุง  20 พ.ค. 2567 เวลา 09:30)

การระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ทำให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ต้องการการปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงหรือเปราะบาง การศึกษาย้อนหลังครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาต้านไวรัสชนิดเม็ด โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) และ แพกซ์โลวิด (Nirmatrelvir/Ritonavir) รวมถึงยาแอนติบอดีสำเร็จรูป โซโทรวิแมบ (Sotrovimab) ที่ฉีดเข้าเส้นเลือดและวัคซีนในการลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและบางรายถึงขั้นเสียชีวิตจากโควิด-19 การศึกษานี้ยังพิจารณาระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีเชื้อในร่างกายจนมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการปรับปรุงการรักษาโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การศึกษาย้อนหลังในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19

การศึกษาครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Trieste และหน่วยงานสาธารณสุข ASUGI ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลี ผลการศึกษาได้ตีพิมพ์ในวารสาร Pharmaceuticals ฉบับที่ 16 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 โดยมีอาสาสมัครทั้งหมด 386 คน ซึ่งประกอบด้วย

  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาโมลนูพิราเวียร์: 116 คน
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาแพกซ์โลวิด: 102 คน
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาโซโทรวิแมบ: 57 คน
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการดูแลตามมาตรฐานไม่ใช้ยาต้านไวรัส (controls): 111 คน

ผลการศึกษาทางคลินิก

ผลการศึกษาพบว่าการรักษาด้วยยาต้านไวรัสทั้งสามชนิดมีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยไม่มีผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาแพกซ์โลวิดและโซโทรวิแมบมีอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ที่ 2% และ 1.8% ตามลำดับ ส่วนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 4 เข็มร่างกายจะขจัดไวรัสออกจากร่างกายได้ดีและรวดเร็วที่สุด

จากผลการศึกษา

  • มีผู้ป่วยเพียง 11 คน (2.8%) ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากปอดอักเสบรุนแรงจากโควิด-19
  • ไม่มีผู้ป่วยที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
  • อัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาแพกซ์โลวิดและโซโทรวิแมบอยู่ที่ 2% และ 1.8% ตามลำดับ
  • การรักษาด้วยยาโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดลดความเสี่ยงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ดีกว่ามาตรฐานการรักษาที่ไม่ใช้ยาต้านไวรัสอย่างมีนัยสำคัญ
  • มีผู้เสียชีวิตเพียง 2 คน (0.5%) และทั้งคู่เป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาใดๆ

 

ระยะเวลาที่ผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มติดเชื้อจนมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ

การศึกษายังพบว่าระยะเวลาที่ผู้ป่วยให้ผลตรวจ RT-PCR เป็นลบมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับยาและวัคซีนที่ใช้

  • การใช้ยาแพกซ์โลวิดช่วยลดระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ (เฉลี่ย 10.2 ± 4.4 วัน)
  • การฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 3 หรือ 4 เข็มช่วยลดระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบได้ดีที่สุด
  • การรักษาด้วยยาโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดลดระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบได้ดีกว่าการรักษาที่ไม่ใช้ยา
  • ผู้ป่วยที่เริ่มการรักษาช้ากว่า 3 วันหลังการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 พบผลการตรวจ RT-PCR เป็นลบในระยะเวลาที่ยาวนานกว่า

 

ข้อดีและข้อควรระวังของการรักษาด้วยยาต่างๆ

โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir)

  • ประสิทธิภาพสูงในการลดความรุนแรงของอาการและยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส
  • การเริ่มการรักษาอย่างรวดเร็วช่วยลดความรุนแรงของโรค
  • ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่เข้มงวดช่วยลดความเสี่ยงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

แพกซ์โลวิด (Paxlovid®)

  • ประสิทธิภาพสูงในการลดอาการรุนแรงและระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ
  • ผลข้างเคียงที่ต้องระวัง ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย รวมถึงปฏิกิริยาระหว่างยากับยารักษาโรคอื่น ๆ

โซโทรวิแมบ (Sotrovimab)

  • มีประสิทธิภาพในการลดอาการรุนแรงและใช้ในกรณีฉุกเฉิน
  • ผลข้างเคียงที่ต้องระวัง ได้แก่ อาการแพ้ ผื่นคัน และอาการแพ้ที่รุนแรง

บทสรุป การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่ายาต้านไวรัส “โมลนูพิราเวียร์” มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อเปรียบเทียบกับ “แพกซ์โลวิด” และ “โซโทรวิแมบ” การเลือกใช้ยาที่เหมาะสมและการเริ่มการรักษาอย่างรวดเร็วเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความรุนแรงของโควิด-19 และป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังคงมีผลดีช่วยให้ร่างกายกำจัดไวรัสได้รวดเร็ว สังเกตจากการตรวจหาไวรัสจากสวอบด้วย RT-PCR ให้ผลลบโดยใช้เวลาที่สั้นกว่า จึงควรให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนเพื่อเป็นแนวทางป้องกันที่มีประสิทธิภาพและประหยัดกว่า