svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

กินดับร้อนตามแพทย์แผนไทย เปิดสมุนไพร-ผัก-ผลไม้ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย

02 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รวมลิสต์ตัวเลือก “กินดับร้อน” ตามศาสตร์แพทย์แผนไทยโดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ชวนเข้าใจองค์ประกอบของร่างกาย พร้อมเผยอาหารและเครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงอากาศร้อนจัด

KEY

POINTS

  • สู้อากาศร้อน เปิดลิสต์สมุนไพร ผัก-ผลไม้ รสชาติขม จืด ช่วยลดความร้อนในร่างกาย แก้กระหาย บำรุงหัวใจ
  • อภัยภูเบศร แนะคนไทยดับร้อนด้วยสมุนไพรฤทธิ์เย็น ชู “บัวบก รางจืด ฟ้าทะลายโจร ผักเบี้ยใหญ่” รักษาสมดุล
  • สธ.แนะนำประชาชนคลายร้อนได้ด้วยผักและผลไม้ใกล้ตัว พร้อมดื่มน้ำ 8-10 แก้วต่อวัน ลดความร้อนในร่างกายและภาวะขาดน้ำ

อากาศร้อน ร่างกายก็ร้อนตามไปด้วย นอกจากการอาบน้ำคลายร้อน การอยู่ในที่ร่มอากาศถ่ายเทสะดวกแล้ว เรื่องของอาหารการกินก็ช่วยได้ โดยเรื่องนี้ ผศ.พท.ป.แสงนภา ทองสา หัวหน้าสาขาวิชาการแพทย์บูรณาการ คณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน ซึ่งอากาศร้อนจะส่งผลกระตุ้นความร้อนภายในร่างกายของคน ทำให้ "ธาตุไฟกำเริบ "โดยทางการแพทย์แผนไทยจะใช้สมุนไพรหรือผักพื้นบ้านที่มีฤทธิ์เย็น มีรสชาติขม เย็น และจืด ช่วยลดความร้อนในร่างกาย

ผลไม้ที่มี "รสเย็น" เช่น มันแกว พุทรา แอปเปิ้ล แตงโม เป็นต้น พืชผัก เช่น ผักบุ้ง ผักตำลึง กะเฉด สายบัว ส่วนผักที่มี "รสขม" ได้แก่ สะเดา มะระ มะเขือยาว กุยช่าย ดังนั้น การรับประทานอาหารในแต่ละมื้อควรมีพืชผักเหล่านี้รวมด้วย เพื่อทำให้ร่างกายมีความเย็นเพิ่มขึ้น

ส่วนสมุนไพรรสขม เช่น ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด มีฤทธิ์เย็น รวมไปถึง น้ำใบย่านาง น้ำใบบัวบก ล้วนมีสาระสำคัญช่วยลดความร้อนได้เช่นกัน หากทานเป็นอาหารตามปกติจะไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่หากทานเป็นผงสมุนไพรหรือรูปแบบสารสกัดจะต้องระมัดระวังไม่ควรทานติดต่อกันเกิน 5-7 วัน เพราะจะทำให้ร่างกายเย็นเกินไป เกิดอาการชาตามมือและเท้าได้

“ช่วงหน้าร้อนควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ด เช่น ขิง ข่า กะเพรา พริกไทย ตะไคร้ หากต้องการต้มน้ำสมุนไพรดื่มเพื่อดับความร้อน แนะนำให้ใช้สมุนไพรที่มีรสจืด เช่น น้ำใบเตย ใบย่านาง แต่ไม่ควรใส่น้ำตาล ส่วนใบบัวบกไม่แนะนำให้ดื่มแทนน้ำ เพราะมีรสขมและมีสรรพคุณทางยา ควรดื่มวันละ 1-2 แก้วเท่านั้น” ผศ.พท.ป.แสงนภา กล่าว

 

อภัยภูเบศ ชวนคนไทยดับร้อน ด้วยสมุนไพรฤทธิ์เย็น

ข้อมูลจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยคุณเบญจวรรณ หมายมั่น แพทย์แผนไทยประยุกต์ แนะวิธีคลายร้อนโดยให้เรียนรู้ตามทฤษฎีแพทย์แผนไทยว่า มนุษย์ประกอบด้วยธาตุดิน 20 ส่วน ธาตุน้ำ 12 ส่วน ธาตุลม 6 ส่วน และธาตุไฟ 4 ส่วน ส่วนประกอบต่างๆ ของร่างกายจะบ่งบอกลักษณะของแต่ละธาตุ เช่น

  • ธาตุดิน มีลักษณะที่มีน้ำหนักจับต้องได้ อันได้แก่ อวัยวะต่างๆ
  • ธาตุน้ำ มีลักษณะหนัก เย็น ชื้น
  • ธาตุไฟ มีลักษณะเบา ร้อน ชื้นพอดี เคลื่อนไหวได้
  • ธาตุลม มีลักษณะเบา ไม่มีน้ำหนัก ไร้รูป แห้ง เย็น

ร่างกายคนเราจะมีกลไกในการทำงานร่วมกันระหว่างธาตุทั้งสี่ ซึ่งเรียกว่า "ตรีโทษ" โดยมีธาตุดินรองรับ

“วาตะ” คือกลไกการทำงานของจิตและระบบประสาท เป็นการทำงานร่วมกันของลมและช่องว่างในร่างกาย มีลักษณะเบา แห้ง เย็น ไม่มีรูปร่าง ไม่นิ่ง

"ปิตตะ" คือกลไกการย่อยอาหาร การเผาผลาญ การรักษาอุณหภูมิของร่างกาย การอักเสบ ความฉลาด เป็นการทำงานร่วมกันของธาตุไฟและธาตุน้ำ มีลักษณะร้อน ชื้น ไหลได้

"เสมหะ" คือกลไกการสร้างความเจริญเติบโต ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ เกาะเกี่ยว ยึดโยง เป็นการทำงานร่วมกันของธาตุน้ำและธาตุดิน มีลักษณะเย็น ชื้น มีน้ำหนัก ไหลได้

สภาวะโลกร้อน หากมองตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยก็คือ “ธาตุไฟกำเริบ” เมื่อไฟกำเริบ ธาตุน้ำก็ลดลง ธาตุดินก็แห้งผาก ธาตุลมก็แปรปรวน ทำให้การเกิดโรคและอาการเจ็บป่วยหลายชนิดรุนแรงขึ้น เมื่อธาตุไฟกำเริบ ธาตุน้ำก็น้อยลง เสมหะที่คอยปกป้องเยื่อบุต่างๆ จะน้อยลง ทำให้ระบบทางเดินหายใจแห้งเกินไป เกิดการติดเชื้อได้ง่าย เกิดการกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้ได้ง่าย ระบบทางเดินอาหารเกิดแผลได้ง่าย ทั้งแผลร้อนใน แผลในกระเพาะอาหาร เยื่อเมือกของระบบสืบพันธุ์ก็จะแห้ง เกิดสภาวะการมีบุตรยากมากขึ้น หากธาตุไฟมากไป ธาตุดินก็แห้งผาก ทำให้อวัยวะต่างๆ ขาดน้ำ ผิวแห้งแตก เกิดฝ้ากระ ผิวเหี่ยวย่น ตาแห้ง ทำให้ตาเป็นต้อ จอประสาทตาเสื่อม เส้นผมและหนังศีรษะแห้ง เป็นรังแค รากผมไม่แข็งแรง ผมหลุดร่วงง่าย ธาตุดินนอกจากจะหมายถึงอวัยวะแล้ว อาหารที่รับประทานเข้าไปตลอดจนอุจจาระที่จะขับถ่ายออกมาก็ถูกจัดให้เป็นธาตุดินด้วย เมื่อน้ำเหือดแห้งไปเพราะไฟจะส่งผลให้อุจจาระแห้งแข็ง ถ่ายลำบาก เกิดอาการท้องผูก ริดสีดวงทวาร และโรคอื่นๆ

“ธาตุไฟที่มากเกินจะส่งผลให้ลมกำเริบ(ความแห้งของไฟไปเสริมความแห้งของลม) มีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร เช่น หน้ามืดเป็นลม ความดันผิดปกติ ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ วิธีการดูแลสุขภาพในช่วงที่ปิตตะ หรือธาตุไฟกำเริบง่ายตามทฤษฎีของความเหมือนความต่าง คือ เมื่อปิตตะหรือไฟสูง(กำเริบ) ควรคุมไม่ให้เค้าสูงเกินด้วยการใช้สมุนไพที่มีรสเย็น ขมเย็น หรือสุขุม” หมอเบญจวรรณ กล่าว

สำหรับสมุนไพรที่เป็นตัวเลือกใช้ได้ดี และอยากแนะนำให้มาใช้ในช่วงหน้าร้อนนี้นั้น แพทย์แผนไทยประยุกต์อภัยภูเบศรแนะนำ “บัวบก” เพราะเป็นสมุนไพรที่คู่อากาศร้อนมาช้านาน โดยมักถูกหยิบนำมาใช้เมื่อเกิดภาวะความร้อน เนื่องจากบัวบกมีรสยาค่อนข้างเย็น ตำรายาไทยใช้เป็นยาเย็น ดับพิษร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ช้ำใน ประกอบกับข้อมูลการศึกษาในปัจจุบันที่พบว่า “บัวบก” มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ การช้ำบวม ซึ่งเป็นอาการแสดงของภาวะความร้อนเกินในร่างกาย สามารถรับประทานเป็น น้ำคั้นใบบัวบกสด หรือเป็นผักแกล้มในมื้ออาหาร รวมถึงรูปแบบแคปซูล ชาชงก็สามารถใช้ได้

อีกตัวที่อยากแนะนำคือ “รางจืด” ราชาแห่งยาแก้พิษ เป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็นอีกชนิดที่มีสรรพคุณมากมาย ทั้งลดอาการแพ้ การอักเสบ ใช้กินแก้ไข้ร้อนใน ใช้ได้ทั้งภายในและภายนอก เช่น ทำเป็นน้ำรางจืดฉีดพ่นลดความร้อนที่ผิวกาย ผิวหน้า ลดอาการแสบแดงและผิวไหม้จากแสงแดด และยังทำเป็นเครื่องดื่มดับร้อนได้อีกด้วย รวมถึง “ฟ้าทะลายโจร” สมุนไพรที่ได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข มีข้อบ่งใช้คือ แก้ไข้ เจ็บคอ รักษาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ ซึ่งเป็นอาการที่มักพบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อนเช่นนี้

มีรายงานผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สรุปได้ว่า สารสกัดสมุนไพรฟ้าทะลายโจร มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลากหลาย เช่น ฤทธิ์ต้านไวรัส HIV1 ไข้หวัด ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดความดันเลือด ต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด ป้องกันความเป็นพิษของตับ ลดไข้และต้านการอักเสบ และฆ่าเชื้อมาลาเรีย ได้อย่างปลอดภัยตัวสุดท้าย คือ ผักเบี้ยใหญ่ ผักข้างทาง แต่มีสรรพคุณขึ้นห้าง มีฤทธิ์เย็น สมัยก่อนพื้นบ้านนิยมนำมาใช้เป็นยาเย็น แก้ไข้ร้อนใน ใช้กิน ใช้ภายนอก รักษาผื่นคันโรคผิวหนังอาการแสบแดงผิวภายนอกได้ และปัจจุบัน มูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้พัฒนาทำเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับภาวะโลกร้อนด้วย

กินดับร้อนตามแพทย์แผนไทย เปิดสมุนไพร-ผัก-ผลไม้ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย

เลือกคลายร้อนด้วยผัก-ผลไม้ใกล้ตัว

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะประชาชนคลายร้อนได้ด้วยผักและผลไม้ใกล้ตัว อาทิ แตงกวา แตงโม และ แคนตาลูป พร้อมดื่มน้ำ 8-10 แก้วต่อวัน ลดความร้อนในร่างกายและภาวะขาดน้ำ

โดยช่วงหน้าร้อนอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ประชาชนสามารถคลายร้อนได้ด้วยผักและผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เต็มไปด้วยใยอาหาร และไม่ทำให้อ้วน ซึ่งผักและผลไม้หลายชนิดเป็นที่คุ้นเคยหรือกินกันเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น

  • แตงกวา ช่วยลดความร้อนและทำให้ร่างกายสดชื่น
  • แตงโมและแคนตาลูป มีส่วนประกอบของน้ำสูงถึงร้อยละ 95 สามารถทดแทนน้ำในร่างกายที่สูญเสียไปเนื่องจากอากาศร้อนได้เป็นอย่างดี
  • ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มีส่วนผสมของน้ำเป็นส่วนประกอบ และสารประกอบทางธรรมชาติ ช่วยลดการอักเสบจากการเผาไหม้ของแสงแดดในหน้าร้อน
  • ผักโขม อุดมไปด้วยน้ำ เป็นแหล่งสะสมของแมกนีเซียม หนึ่งในแร่ธาตุที่สูญเสียไปพร้อมกับเหงื่อที่ถูกขับออกมา มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ช่วยปกป้องผิวและสายตาจากการถูกทำลายจากแสงแดด
  • มะเขือเทศ ช่วยให้ร่างกายสดชื่น วิตามินซีสูง ช่วยย่อยอาหารและช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ป้องกันมะเร็งบางชนิด
  • สะระแหน่ เป็นสมุนไพรเย็น ช่วยบรรเทาอาการหวัด ขับเหงื่อ ระบายความร้อน มีสารเมนทอลที่มีคุณสมบัติเย็น ใช้ในการรักษาอาการอ่อนเพลีย และบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน

นอกจากนี้ ควรเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เน้นอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำมากๆ ให้พลังงานน้อยๆ เช่น ข้าวแช่ สลัดผักผลไม้ มะระทรงเครื่อง ดื่มน้ำเปล่าวันละ 8-10 แก้ว หากรู้สึกอยากดื่มน้ำหวาน ควรเลือกดื่มน้ำผักผลไม้สดจากธรรมชาติรสหวานน้อย น้ำผลไม้สำเร็จรูป 100 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจเลือกน้ำสมุนไพรรสหวานน้อย เช่น น้ำเก๊กฮวย น้ำใบบัวบก น้ำกระเจี๊ยบ น้ำหล่อฮังก๊วย น้ำจับเลี้ยง เป็นต้น

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกไขมันและเนื้อสัตว์ เนื่องจากต้องใช้พลังงานการในย่อยสูง รวมทั้งอาหารที่ให้ความร้อนแก่ร่างกาย เช่น ขิง กระเทียม ไม่ดื่มน้ำอัดลม งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้หลอดเลือดที่ผิวหนังขยายตัว เกิดการขับน้ำออกจากร่างกายเร็วขึ้น เหงื่อออก ปัสสาวะบ่อย ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำโดยไม่รู้ตัว

หากมีอาการท้องเสีย สามารถดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่ หรือที่เรียกว่า โอ-อาร์-เอส (ORS : Oral Rehydration Salts) โดยละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว ตามปริมาตรและวิธีที่ระบุบนฉลาก หรือผสมรับประทานเองโดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือป่น 1 ช้อนชา ผสมในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 750 มิลลิลิตร หากละลายยาก สามารถใช้น้ำอุ่นพอประมาณได้ แต่ไม่ควรใช้น้ำร้อนจัด ดื่มเพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ได้

logoline