svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ผลการศึกษาชี้ “โลกร้อนขึ้น” เพิ่มจำนวนผู้ป่วย ”โรคหัวใจและหลอดเลือด”

30 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ เผยอากาศร้อนส่งผลต่อ “ระบบหัวใจและหลอดเลือด” การขับเหงื่อ ระดับคอเลสเตอรอลที่สูงขึ้น และความเครียดของระบบไหลเวียนโลหิต ผลพวงจากโลกร้อนที่กระทบกลุ่มเปราะบางในจีนมากที่สุด

ผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร eBioMedicine ชี้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอาจมีผลทำให้อัตราการเสียชีวิตจาก “โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Diseases)” ในจีนเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตปีละประมาณ 19 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าว 5 ล้านคนอยู่ในจีน นอกจากนั้น โรคหัวใจและหลอดเลือดยังเป็นสาเหตุทำให้ประชากรกว่า 390 ล้านคนทั่วโลกเผชิญกับผลกระทบด้านสุขภาพในระยะยาว

สำหรับการศึกษาครั้งนี้พยายามหาสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในจีน จากการวัดอุณหภูมิปัจจุบันที่จุดเฝ้าระวังโรค (DSP) 161 จุด และอิงตามโครงการ Coupled Model Intercomparison Project Phase 6 (CMIP6) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการวิจัยสภาพภูมิอากาศโลก (WCRP) ที่ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติและสถานการณ์รวมที่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศทั้งทางธรรมชาติและทางมนุษย์

ซึ่งผลการศึกษา พบว่าจากอุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้น 1.15 องศาเซลเซียส เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพิ่มสัดส่วนของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนเนื่องจาก “โรคหลอดเลือดหัวใจ” ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละทศวรรษ จากประมาณ 31% ในปี 2010 เป็นประมาณ 70-90% ในปี 2090

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคหลอดเลือดหัวใจ

อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นทำให้อากาศร้อนขึ้น ส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ทั้งในระบบการขับถ่ายเหงื่อ ระดับคอเลสเตอรอลที่สูงขึ้น ซึ่งล้วนไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ขณะที่ปัญหาอากาศร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศยังกระทบกับหลอดเลือดแดงทั้งในหัวใจและกล้ามเนื้อสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดความผิดปกติของเส้นเลือดในสมองและหัวใจวายได้

โลกร้อนกระทบกลุ่มเปราะบางมากที่สุด

สำหรับกลุ่มคนที่คาดว่าเป็นกลุ่มเปราะบางต่อการเสียชีวิตจาก “โรคหัวใจและหลอดเลือด” ที่เกิดจากความร้อน คือกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในชนบท บุคคลซึ่งมีระดับการศึกษาต่ำ คนไข้ที่ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมอง ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ภาคใต้และตะวันออกของประเทศจีน โดยรายงานระบุว่า คนที่มีระดับการศึกษาต่ำส่วนใหญ่มักทำงานกลางแจ้ง และไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะเข้าถึงการรักษาจึงล้มป่วยด้วยโรคเรื้อรัง

อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อป้องกันภาวะโลกร้อนเพิ่มเติมในท้ายที่สุด โดยระบุว่า “มาตรการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนในอนาคต อาจให้ประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมากแก่ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด”

 

ที่มา : eBioMedicineNews Medical

logoline