กรณีข่าว 'หมูเถื่อน' ทะลักเข้าไทย ซ้ำเติมเกษตรกรขาดทุนอ่วม! นอกจากผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทย กับปัญหาราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มตกต่ำสวนทางกับต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นแล้ว ผลกระทบโดยตรงกับผู้บริโภคยังเป็นเรื่องที่หลายฝ่าวิตกกังวล
นักวิชาการเตือน ‘หมูเถื่อน’ อาจปนเปื้อนทั้งเชื้อดื้อยาและสารตกค้างที่มากกว่าสารเร่งเนื้อแดง
ในช่วงเดือน ต.ค. 2565 ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร. รุ่งทิพย์ ชวนชื่น หัวหน้าศูนย์ติดตามการดื้อยาของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ โดยความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง สถานการณ์การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเข้าสู่ประเทศไทยที่ยืดเยื้อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันว่า กำลังส่งผลให้มีปริมาณหมูที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพที่รวมถึงเเบคทีเรียก่อโรค สารตกค้างหรือสารปนเปื้อนต่างๆ เข้ามากระจายสู่ผู้บริโภคชาวไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคไทย
“นอกเหนือจากอันตรายจากสารเร่งเนื้อแดงที่หลายประเทศต้นทางหมูเถื่อนอาจยังมีการอนุญาตให้ใช้ได้ ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผล นับเป็นอีกปัจจัยอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศต้นทาง หมูเถื่อน เช่น บางประเทศในแถบอเมริกาใต้ ยังคงมีการนำโคลิสตินซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะทางเลือกสุดท้ายสำหรับมนุษย์ มาใช้ในการเลี้ยงสัตว์เพื่อควบคุมและป้องกันโรค และอาจทำให้เชื้อดื้อยาโคลิสตินปะปนมาในเนื้อสัตว์ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมาถึงผู้บริโภคได้”
นอกจากนี้ ยังเคยมีนักวิชาการจาก ม.ขอนแก่น ออกมายืนยันว่า “หมูเถื่อน” ที่ลอบนำเข้าขายราคาถูกสุดอันตราย เป็นหมูหมดอายุ ไม่ผ่านการตรวจโรค และมีสารปนเปื้อนอันตราย โดยเฉพาะแถบภาคอีสานลักลอบนำเข้าอยู่เรื่อยๆ กระทบความปลอดภัยของผู้บริโภคคนไทยทุกคน
โดย รศ.น.สพ.ดร.คมกริช พิมพ์ภักดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึงสถานการณ์หมูเถื่อนที่กำลังระบาดอย่างหนักทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานว่า กำลังส่งผลต่อสุขอนามัยของคนไทย ซึ่งสามารถก่อปัญหาต่อระบบสาธารณสุขในอนาคต เนื่องจากหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามานั้นเป็นหมูหมดอายุ ไม่มีคุณภาพ ไม่ผ่านการตรวจโรค และมีสารปนเปื้อนอันตรายกว่าที่คาด
“ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่ออกมาเพื่อความปลอดภัยทางอาหารของคนไทย อย่างหมูไทยจะต้องผ่านการตรวจทั้งก่อนชำแหละและหลังชำแหละ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะเป็นหมูที่ปลอดภัยต่อคนไทย แต่หมูเถื่อนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจากเจ้าพนักงาน มีทั้งเชื้อโรคหรือสารต้องห้ามที่ประเทศไทยไม่อนุญาตให้ใช้ ซึ่งเป็นอันตรายถึงผู้บริโภคได้”
ดังนั้น ผู้บริโภคควรซื้อหาเนื้อหมูจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และพึงสังเกตราคาหมูที่ถูกผิดปกติก็ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาร้านอาหารบุฟเฟต์ หมูกระทะ ไม่ควรนำมาจำหน่ายให้ลูกค้าซึ่งตรงนี้เป็นจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมที่ทุกร้านควรจะมี
นักวิชาการ ตอกย้ำ “หมูเถื่อน” ลอบนำเข้าเป็นภัยร้ายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร และผู้บริโภคของไทย เสี่ยงสารเร่งเนื้อแดง ผู้บริโภคเป็น "โรคหัวใจ" ระวังหายใจติดขัด
ข้อมูลโดย ผศ.น.สพ. ณัฐวุฒิ รัตนวนิชย์โรจน์ รองคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ระบุ หมูลักลอบนำเข้าหรือ “หมูเถื่อน” ส่งผลกระทบใน 2 มิติหลัก คือ 1.กระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร หรือการเลี้ยงหมูของเกษตรกรไทย 2.ความเสี่ยงต่อสารปนเปื้อนกระทบต่อผู้บริโภค
นอกจากหมูเถื่อนจะถูกลักลอบนำเข้ามาในลักษณะแช่แข็งแล้ว ยังเข้ามาในรูปแบบของ หมูมีชีวิต ซึ่งเป็นพาหะของโรคที่สำคัญมาก หากประเทศต้นทางยังมีการแพร่ระบาดของโรค ASF จะส่งกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งผู้เลี้ยงหมู โรงงานอาหารสัตว์ ผู้บริโภค และยังกระทบกับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหาร ท่องเที่ยว เพราะการระบาดของโรค ASF มีโอกาสทำให้หมูตาย 95-100% แม้โรคนี้ไม่ติดคนและเนื้อสุกรยังมีความปลอดภัย แต่เมื่อคนกินเข้าไปจะเป็นพาหะติดตามเนื้อตัว หรือทางอุจจาระ
การตรวจสอบคุณภาพหมูเถื่อนทำได้ยาก จึงมีความเสี่ยงในการบริโภค เนื่องจากหลายประเทศยังอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง ชนิดแรคโทพามีน (Ractopamine) เช่น สหรัฐ บราซิล ประเทศที่ไม่อนุญาตให้ใช้ คือ ประเทศทางยุโรป หากหมูเถื่อนมาจากประเทศที่ยังใช้สารเร่งเนื้อแดงมาขายในตลาดไทย จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยตรง และจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ได้หยุดใช้สารเร่งเนื้อแดงมานานเกินกว่า 20 ปี แล้ว ทั้งนี้ สารเร่งเนื้อแดงจะทำให้เกิดผลข้างเคียง โดยเฉพาะการกินเครื่องในสัตว์ โดยเฉพาะตับที่มีการสะสมของสารเร่งเนื้อแดงจำนวนมาก ผู้บริโภคที่เป็นโรคหัวใจ จะทำให้หายใจติดขัด
"เนื้อหมู" วัตถุดิบคู่ครัวคนไทยกับเรื่องที่ทุกบ้านควรรู้!
เนื้อหมู อุดมไปด้วยสารอาหารประเภทโปรตีน กรดไขมัน กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และคอเลสเตอรอล
หากลองคำนวณปริมาณสารอาหารในเนื้อหมูปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานทั้งหมด 84 กิโลแคลอรี่ มีโปรตีน 21 กรัม ทั้งยังมีคาร์โบไฮเดรต (ใยอาหาร, น้ำตาล) ไขมัน (ไขมันอิ่มตัว, ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน, ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว, ไขมันทรานส์) คลอเรสเตอรอล โซเดียม และโพแทสเซียม
เนื้อหมูจึงถือเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญ ที่ได้รับความนิยมสูง ในการนำมาประกอบเป็นอาหารจานหลัก โปรตีนมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเนื้อเยื้อ อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย โดยเนื้อหมูส่วนที่มักนำมาประกอบอาหารมากที่สุด คือ เนื้อหมูส่วนสันใน เนื่องจากมีปริมาณโปรตีนสูง เนื้อส่วนที่มีไขมันมากที่สุด คือ ส่วนสามชั้น ตามมาด้วยเนื้อส่วนคอ และซี่โครง ที่นิยมนำมาเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารเช่นกัน
เคล็ดลับการเลือกซื้อเนื้อหมูปลอดภัย?
เนื้อหมูแทบจะเป็นอาหารหลักของใครหลายๆ คนในทุกมื้ออาหาร เเละเนื้อหมูเเต่ละส่วน ยังทำเมนูได้อร่อยไม่เหมือนกันด้วย แต่ช่วงที่ผ่านมาหลายๆ คนคงได้ยินข่าวโรค หรืออาการที่เกี่ยวกับการบริโภคหมู อย่างโรคไข้หูดับ ที่เกิดจากการทานหมูไม่สุก เเละต้องสัมผัสกับเนื้อหมูป่วย ทำให้เกิดเป็นอันตราย เรียกได้ว่า เป็นภัยเล็กๆ ที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับ คนทำครัว หรือแม้กระทั่ง คนที่บริโภคเนื้อหมูก็ตาม และ การเลือกซื้อเนื้อหมู ให้ถูกหลักอนามัย เเละวิธีการเลือกเนื้อหมูแต่ละส่วนให้อร่อยถูกใจ ดังนี้
วิธีเก็บรักษาเนื้อหมู ทำได้อย่างไร?
ทุกครั้งที่นำเนื้อหมูออกจากช่องแช่แข็ง ควรปล่อยให้น้ำแข็งละลายเองก่อน จะนำเนื้อหมูมาทำอาหาร ไม่ควรแช่เนื้อหมูในน้ำ เพราะนอกจากทำให้เสียคุณค่าทางอาหารยังทำให้เนื้อหมูกระด้าง รสชาติไม่อร่อย ที่สำคัญไม่ควรเก็บเนื้อหมูไว้ในช่องแช่แข็งนานเกิน 1 เดือน