svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

Climate Adaptation เหตุใดต้องเร่งปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่ออุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ บางพื้นที่อาจเผชิญกับความร้อนแตะ 45 องศา นักวิชาการเผยภาพรวมของฤดูร้อนในปีนี้อากาศที่ร้อนจัดและความแล้งกระทบคนรากหญ้า จำเป็นต้องให้ความสำคัญและยึดคนเป็นศูนย์กลาง พร้อมเร่งทุกฝ่ายปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

ในปี 2567 ทั้งภาวะโลกเดือดและเอลนีโญ ทำให้หน้าร้อนมาเร็วขึ้น พื้นดินและมหาสมุทรอุ่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลายประเทศต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงผิดปกติในฤดูหนาวจนทำลายสถิติ สำหรับประเทศไทยภาวะโลกเดือดและปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลให้ฤดูร้อนปีนี้ ซึ่งนอกจากจะร้อนมากขึ้นแล้ว ยังแล้งเพิ่มขึ้นด้วย เพราะมีแนวโน้มที่ปริมาณฝนตกเฉลี่ยจะต่ำกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 30

ดร.ผกามาศ ถิ่นพังงา

ดร.ผกามาศ ถิ่นพังงา ผู้อำนวยการโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป ภายใต้สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และผู้อำนวยการโครงการชุมชนชายฝั่งรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสนับสนุนโดย Adaptation Research and Alliance ภายใต้มูลนิธิชุมชนสงขลา ได้รวบรวมข้อมูลและเผยแพร่ประเด็นที่น่าสนใจจากสภาพอากาศที่ร้อน สู่ประเด็นคำถามที่ว่า...ทำไมเราต้องเร่งปรับตัว

ข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เผยว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมามีค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมคาดการณ์ผลจากการผสมผสานระหว่างภาวะโลกเดือดซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างเอลนีโญ ส่งผลทำให้พื้นดินและมหาสมุทรอุ่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลายประเทศต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงผิดปกติในฤดูหนาวถึงกับทำลายสถิติกันไปแล้ว สำหรับประเทศไทยภาวะโลกเดือดและปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลให้ฤดูร้อนปีนี้ ซึ่งนอกจากจะร้อนมากขึ้นแล้ว ยังจะแล้งเพิ่มขึ้นด้วย เพราะมีแนวโน้มที่ปริมาณฝนตกเฉลี่ยจะต่ำกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 30 เลยทีเดียว

 

อากาศร้อนจัดและความแล้งกระทบคนรากหญ้า

สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างผิดปกติจะส่งผลกระทบกับทุกคน แต่บางกลุ่มจะได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสุขภาพมากกว่ากลุ่มอื่นๆ จากอากาศที่ร้อนจัดและความแล้งที่ส่งผลให้น้ำขาดแคลน ยกตัวอย่าง กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยทั้งที่อาศัยอยู่ในเมืองและในชนบท โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานกลางแจ้ง อาทิ คนงานก่อสร้าง หาบเร่แผงลอยริมถนน รวมถึงเกษตรกร ซึ่งต้องทนทำงานกลางแจ้งท่ามกลางอากาศร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องทนร้อนในยามค่ำคืนเพราะอาศัยอยู่ในที่พักที่ระบายอากาศไม่ดีพอ นอกจากนี้ยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อหาน้ำดื่มที่มีราคาสูงอีกด้วย

“จากค่าดัชนีความร้อนสูงขึ้น ไม่เพียงแต่ทำให้ความต้องการน้ำเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น ยังทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากรพลังงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กลุ่มคนที่ยากจนอาจจะไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าและน้ำประปาสะอาดได้ ประกอบกับกลุ่มคนยากจนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นอกระบบในเมืองก็จะได้รับผลกระทบและต้องเผชิญกับค่าไฟฟ้าและค่าน้ำที่สูงมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน” ดร.ผกามาศ กล่าว

 

ผลกระทบที่โลกต้องเจอ

จากอุณหภูมิพื้นดินและพื้นผิวน้ำทะเลทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้พายุทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลโดยตรงต่อระบบนิเวศวิทยาชายฝั่งที่มีความละเอียดอ่อนจะได้รับผลกระทบจนเกิดการเปลี่ยนแปลงไป เช่น แนวปะการังที่สำคัญ รวมไปถึงชุมชนชายฝั่ง โดยเฉพาะชุมชนประมงดั้งเดิม ต้องเผชิญกับผลกระทบทั้งจากอากาศร้อน พายุที่เกิดนอกฤดู พายุที่รุนแรงมากขึ้น รวมถึงคลื่นพายุซัดฝั่งที่จะเกิดบอยครั้งมากขึ้น นับเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการประกอบอาชีพ และจำนวนของปลาหรือสัตว์น้ำที่จับได้ลดลง ซึ่งจะกระทบต่อรายได้อย่างแน่นอน มากไปกว่านั้นยังต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากการซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหายจากลมพายุและคลื่นอีกด้วย

จากสถิติความร้อนสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนั้นเป็นสัญญานเตือนที่ชัดเจนว่าโลกของเรากำลังร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว หมายความว่า “ภาวะโลกร้อน” (ปัจจุบันมีการใช้คำว่า “โลกเดือด”แทนคำว่า “โลกร้อน”) จะผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (หรือที่เรียกกันว่า Climate Change) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอย่างต่อเนื่อง แปลว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ การคลาดเคลื่อนของฤดูกาล การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล รวมถึงสภาพอากาศแบบสุดโต่งจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบกับทุกคน แต่กลุ่มคนที่เปราะบางมากที่สุด อาทิ กลุ่มคนยากจน กลุ่มคนชายขอบ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะผลกระทบด้านเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของหนี้สิน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อปรับตัวและรับมือกับผลกระทบเหล่านี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่รอดอย่างยั่งยืนหากต้องเผชิญกับภัยพิบัติและวิกฤติทุกประเภท

Climate Adaptation เหตุใดต้องเร่งปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Adaptation)

การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมายถึง การปรับวิถีชีวิต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานและการปรับแผน นโยบาย ข้อกำหนด กฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างเป็นระบบ ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริงหรือที่คาดการณ์ไว้ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบหรือหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น และเพื่อสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้

นั่นหมายความว่า ทั้งชุมชนและหน่วยงานภาครัฐจะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติ ทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงและผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ เพราะวิถีปฏิบัติแบบเดิมๆ แผนเดิม โครงการพัฒนาและการปฏิบัติที่ผ่านมาไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป และอาจจะสร้างปัญหาใหม่ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รูปแบบของสภาพอากาศที่คาดการณ์ได้ยาก และเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น

                                  

แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ

ปัจจุบันประเทศไทยมีแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติที่ใช้มาหลายปีแล้ว แต่การดำเนินการปรับตัวระดับท้องถิ่นยังเกิดขึ้นน้อยมาก ขาดทั้งแผนงาน แผนปฏิบัติการ และแผนงบประมาณในการดำเนินงาน แผนการปรับตัวของประเทศไทยนั้นมุ่งเน้น 6 ภาคส่วนที่สำคัญ ได้แก่ การจัดการทรัพยากรน้ำ เกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว การสาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์และความมั่นคง แต่แผนการปรับตัวฯ นี้ จำเป็นต้องให้ความสำคัญและยึด “คนเป็นศูนย์กลาง” มากกว่านี้ ต้องเน้นเป้าหมายให้ชัดเจนเรื่องการลดความเปราะบางด้านสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว และเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มคนทุกภาคส่วนที่มีความแตกต่างกันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

การจัดตั้ง "กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม" ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความพยายามด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศ ภายใต้การบริหารจัดการได้กำหนดให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยดำเนินการพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัดเป็นครั้งแรก แต่แผนเหล่านี้ยังคงมุ่งเน้นความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นหลัก เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30 เทียบจากการดำเนินงานปกติของประเทศ ภายในปี 2573

ความพยายามของการลดก๊าซเรือนกระจกนั้นยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศด้วยวิธีการต่างๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปใช้พลังงานสะอาดทดแทนและการฟื้นฟูป่าไม้ โดยมุ่งเป้าเพื่อบรรเทาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น จะเป็นผลดีต่อสภาพภูมิอากาศในอนาคต แต่การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลักๆ แล้วมีสองด้าน คือการลดอุณหภูมิโลก (Climate Mitigation) กับการปรับตัว (Climate Adaptation) ซึ่งประเทศไทยมุ่งเน้นแต่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ แต่ในความเป็นจริง สภาพภูมิอากาศได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่สุดขณะนี้ คือต้องค้นหาวิธีการและรูปแบบของการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความหลากหลาย เพื่อความอยู่รอด เช่น ชุมชนที่ต้องเจอปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก หรือน้ำไม่พอใช้ซ้ำชาก หรือเจอทั้งท่วม ทั้งร้อน ทั้งแล้งในปีเดียวกันทุกปี หรือชุมชนชายฝั่งที่เจอทั้งลม พายุ และคลื่นซัด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ปัญหาเหล่านี้รุนแรงมากขึ้น แล้วชุมชนจะอยู่กันอย่างไร จะต้องปรับวิถีชีวิตอย่างไร จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคอย่างไรเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ การบริหารจัดการน้ำต้องปรับเปลี่ยนทั้งระบบ หน่วยงานภาครัฐจะต้องมีแผน นโยบายเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนและเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวอย่างไร

สำหรับแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับจังหวัดนั้น จำเป็นต้องเพิ่มแนวทางให้กับหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆ ในระดับท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาด้านความเปราะบางของชุมชนในพื้นที่และกลุ่มเปราะบางทางสังคม เช่น กลุ่มคนยากจน กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้หญิงและเด็ก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างศักยภาพในการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบที่หลากหลายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ไม่ได้จำกัดแค่เพียงกลุ่มคนเหล่านี้เท่านั้น ดังนั้น จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการระบุกลุ่มคนที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ชัดเจน และประเมินให้ได้ว่าเหตุใดกลุ่มคนเหล่านี้ถึงมีความเปราะบาง

 

“การสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มชุมชนและกลุ่มเปราะบางในพื้นที่นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการคัดเลือกมาตรการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ ซึ่งแผนการปรับตัวระดับพื้นที่นี้จะเป็นแผนเฉพาะไม่สามารถนำไปใช้กับพื้นที่อื่นได้ และแผนการปรับตัวนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในพื้นที่ นอกจากนี้ต้องนำแนวทางการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation) บูรณาการเข้าสู่แผนการปรับตัวระดับพื้นที่ด้วย เนื่องจากเห็นได้ชัดว่า การใช้เพียงแนวทางการแก้ปัญหาโดยใช้สิ่งก่อสร้างเชิงวิศวกรรมอย่างเดียวนั้นไม่สามารถปกป้องชุมชนที่เปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความซับซ้อนได้อีกต่อไป” ดร.ผกามาศ กล่าวสรุป