ผลพวงจากสภาวะโลกร้อน กำลังทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และนั่นกำลังทำให้หลายประเทศหมู่เกาะ รวมไปถึงพื้นที่เพาะปลูกอาหารบนที่ราบอุดมสมบูรณ์ริมชายฝั่งและปากแม่น้ำทั่วโลก อาจต้องจมสมุทรภายในสิ้นศตวรรษนี้
ในการปราศรัยในการประชุมสุดยอดพิเศษ เดนนิส ฟรานซิส นักการทูตจากตรินิแดดและโตเบโก ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในวาระปัจจุบัน ชี้ว่า ปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาระดับโลก
โดยเขาได้กล่าวย้ำถึงความจำเป็น ที่ประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วนในการรับมือกับปัญหาใหญ่ที่อาจทำให้กว่า 900 ล้านคนทั่วโลกต้องย้ายถิ่นฐาน และคนอีกจำนวนมากกว่าต้องอดอยาก เพราะพื้นที่เพาะปลูกหลักริมชายฝั่งต้องจมอยู่ใต้ทะเล
“สำหรับหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะเล็กๆ ภัยจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงเป็นถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย นี่ไม่ใช่การคาดเดาหรือพูดเกินจริง มันเป็นเรื่องจริง” ฟรานซิส อธิบาย
ตรินิแดดและโตเบโก ถือเป็นอีกประเทศหมู่เกาะอีกประเทศหนึ่งในแถบทะเลแคริบเบรยน ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากภัยน้ำทะเลขึ้นสูงเช่นกัน
จากข้อมูลวิเคราะห์ภัยโลกร้อนโดย คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้ประมาณการว่าภายใต้สภาวะปัจจุบัน ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นระหว่าง 8 ถึง 29 เซนติเมตรภายในปี 2573 โดยบริเวณเส้นศูนย์สูตรจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลมีผลมาจากความร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของชั้นบรรยากาศและมหาสมุทร ซึ่งทำให้ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาทั่วโลก และพืดน้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งและพืดน้ำแข็งขั้วโลกจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นกว่า 70 เซนติเมตรในอีกประมาณ 50 ปีข้างหน้า นั่นจะทำให้ภัยน้ำท่วมชายฝั่งรุนแรงที่จะมีวงรอบเกิดซ้ำทุกๆ ศตวรรษอาจกลายเป็นปรากฏการณ์ประจำปีภายในสิ้นศตวรรษนี้
“ผู้คนกว่า 900 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเขตที่ราบต่ำชายฝั่งทะเลมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะสูญเสียบ้านและที่ดินทำกินเนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอื่นๆ ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ เช่น แม่น้ำมิสซิสซิปปี้ แม่น้ำโขง และแม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำของโลก กำลังจมลง จะไม่มีใครรอดพ้นจากหายนะที่อาจเกิดขึ้น” ฟรานซิส กล่าว
นอกเหนือจากผลกระทบที่รุนแรงต่อการดำรงชีวิตและชุมชนแล้ว ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลกระทบ ครอบคลุมมิติด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมาย การเมือง เทคนิค เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิทธิมนุษยชน อีกด้วย
ดังนั้น เขาจึงเรียกร้องต่อประชาคมโลกให้ร่วมมือกันอย่างแข็งขัน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยกระดับวาระการแก้ปัญหาดังกล่าวในการประชุม COP28 ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตต์