กลายเป็นไวรัลสนั่นโลกออนไลน์ขึ้นมา เมื่อ ดร.ศรันย์ภัทร์ สุวรรณรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ออกมาโพสต์ทางเฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเผยถึงความขัดแย้งเล็กๆ ระหว่างทีมนักอนุรักษ์นกแก้วโม่ง นกหายากที่ยังพบได้เป็นฝูงใหญ่ใน จ. นนทบุรี กับฝ่ายบริหารของวัดมะเดื่อ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ที่กำลังมีแผนตัดโค่นต้นยางนาที่ยืนต้นตายในบริเวณวัด อันเป็นแหล่งอาศัยทำรังของฝูงนกแก้วโม่งในวัด โดยโพสต์ต้นทางได้กล่าวว่า
“ต้นยางนายักษ์ อายุหลายร้อยปี ที่ยืนต้นตายในพื้นที่หนึ่งของจ.นนทบุรี เป็นที่อยู่อาศัยและทำรังวางไข่ของ "นกแก้วโม่ง" สัตว์ป่าที่ (หลงเหลือ) อยู่ในเมือง และเป็นนกชนิดพันธุ์หายากใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งในช่วงฤดูผสมพันธุ์ปีที่ผ่านมามีนกแก้วโม่งมาทำรังวางไข่อยู่ในโพรงของต้นไม้นี้ทั้งหมด 6 คู่ 6 โพรง ได้ลูกนกออกจากโพรงรวมกัน 6 ตัว ช่วงนี้เริ่มเข้าฤดูผสมพันธุ์ใหม่แล้ว เมื่อวานลองขับรถแวะเข้าไปดู พบว่ามีนกเริ่มจับจองและอยู่ประจำโพรงแล้ว 4-5 โพรง แต่พี่ยืนอมยิ้มได้อยู่ไม่นาน เจ้าของพื้นที่ก็เดินมาบอกว่า จะตัดต้นยางนานี้แน่นอนหลังปีใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาพี่ก็พยายามบอกตัวเองเสมอว่า ไม่ช้าก็เร็ว ต้นยางนาต้นนี้จะต้องถูกตัดถูกถอนทิ้งแน่นอน แต่ก็ภาวนาขออย่าให้เป็นช่วงที่มีลูกนกในโพรงเลย แต่ไม่เป็นผล และถึงแม้จะพยายามต่อรอง ให้ข้อมูล และขอเลื่อนเวลาในการรื้อถอนออกไปเป็นเดือนหลังเดือนเม.ย. ปีหน้า เพื่อให้โอกาสลูกนกของฤดูกาลนี้ได้ออกจากโพรงไปเสียก่อน แต่พี่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจใครได้”
จากการพูดคุยกับ ศิลป์ชัย อ้นอยู่ นายกสมาคมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชุมชน และผู้ดูแลเพจ ชมรมอนุรักษ์นกแก้วโม่งวัดสวนใหญ่ เปิดเผยว่า เขาไม่อยากให้เรื่องนี้ต้องบานปลายกลายเป็นปมขัดแย้งระหว่างวัดและนักอนุรักษ์ เพราะก็เข้าใจมุมมองจากทั้งสองฝ่าย
“ฝ่ายวัดก็กังวลว่าต้นยางนาที่ยืนแห้งตาย อาจมีโอกาสถูกลมพายุพัดจนล้ม สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนภายในวัด แต่สำหรับทางนักอนุรักษ์ก็มองว่า ขณะนี้เป็นฤดูทำรังเลี้ยงดูลูกนกของนกแก้วโม่ง จึงอยากขอให้ทางวัดอดทนรออีกสักหน่อย ขอให้พ้นช่วงนกทำรังในช่วงปลายปีนี้ แล้วจึงค่อยไปตัดช่วงเดือนมีนาคม เมษายน ปีหน้า ซึ่งลูกนกจะโตพอที่จะออกบินจากรังได้เองแล้ว จึงค่อยตัด” ศิลป์ชัย กล่าว
ศิลป์ชัย อธิบายว่า
จังหวัดนนทบุรี ถือเป็นพื้นที่ใกล้เมืองแหล่งสุดท้ายที่ยังสามารถพบนกแก้วโม่งอยู่กันเป็นฝูงใหญ่อยู่ เพราะยังพอมีต้นไม้สูงให้เป็นที่อาศัยทำรังของนกแก้วโม่ง ที่ตามธรรมชาติแล้วจะไม่ทำรังตามต้นไม้ระดับพื้นทั่วไป
อย่างไรก็ตามจากการที่ต้นไม้ขนาดใหญ่ถูกตัดโค่น หายไปเรื่อยๆ แหล่งอาศัยของนกแก้วโม่งก็กำลังหดเล็กลงทุกที แม้ว่าเขาเปิดเผยว่าทางกลุ่มได้มีความพยายามนำรังเทียมสร้างจากกล่องไม้ ไว้ให้เป็นรังทดแทนกับนกหายากเหล่านี้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
“ทางฝ่ายนักอนุรักษ์และฝ่ายวัดกำลังจะเจรจาเพื่อหาทางออกกันในวันจันทร์นี้ (11 กันยายน) โดยทางเราก็หวังว่าจะสามารถหาข้อสรุปที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ และไม่รบกวนกับทั้งนกแก้วโม่งและกับทางวัดมากจนเกินไป” ศิลป์ชัย อธิบาย
จากข้อมูลของ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า นกแก้วโม่ง เป็นนกแก้วที่มีขนาดใหญ่สุดในไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Psittacula eupatria มีถิ่นกำเนิดและการกระจายใน ประเทศอินเดีย แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบใน เมียนร์ม่า ไทย กัมพูชา เวียดนาม และลาว สำหรับประเทศไทยสามรถพบได้ทุกภาค ยกเว้น ภาคใต้ มีสถานะทางกฎหมายเป็นสัตว์คุ้มครอง ห้ามล่า ค้า หรือครอบครอง
นกแก้วโม่ง จะทำรังตามโพรงต้นไม้ต่างๆ ทั้งเป็นโพรงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเกิดจากนกหรือสัตว์ชนิดอื่นทำไว้ โดยมักจะวางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ทั้งสองเพศช่วยกันสร้างรัง ฟักไข่ และเลี้ยงลูกอ่อน จะเริ่มฟักไข่ตั้งแต่ออกไข่ฟองสุดท้ายของรัง ใช้ระยะเวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 19-21 วัน