เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการค้นพบ ฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่บ่อทรายโคราช จังหวัดนครราชสีมา เป็นฟอสซิลเสือชนิดใหม่ของไทย ชื่อว่า “แพคีแพนเธอรา พิริยะอิ” (Pachypanthera piriyai)
ฟอสซิลเสือ “แพคีแพนเธอรา พิริยะอิ” (Pachypanthera piriyai) ที่ถูกค้นพบมีอายุ 6-9 ล้านปีก่อน หรืออยู่ในช่วงสมัยไมโอซีนตอนปลาย (Late Miocene) ซึ่งได้รับมอบตัวอย่างจากคุณพิริยะ วัชจิตพันธ์ จึงตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้มอบตัวอย่าง ซึ่งฟอสซิลที่ค้นพบประกอบไปด้วยขากรรไกรล่างและขากรรไกรบนพร้อมฟันบางส่วน
มีลักษณะเด่น คือ มีฟันและขากรรไกรที่หนา แข็งแรง บ่งบอกว่าเป็นนักล่าที่แข็งแกร่ง สามารถกัดฉีกเหยื่อได้แม้กระทั่งกระดูก มีขนาดขากรรไกรยาวกว่า 20 เซนติเมตร เมื่อวิเคราะห์ขนาดฟันพบว่ามีน้ำหนักตัวถึง 142 กิโลกรัม ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่พอสมควรเมื่อเทียบกับเสือในปัจจุบัน
ฟอสซิลเสือชนิดใหม่นี้ ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่แอ่งโคราชในอดีตมีนักล่าที่สำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยมีรายการการค้นพบฟอสซิลสัตว์นักล่าขนาดใหญ่ในพื้นที่นี้ นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบฟันของเสือเขี้ยวดาบในวงศ์ย่อย Machairodontinae อีกด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่สามารถระบุชนิดได้ เนื่องจากตัวอย่างค่อนข้างไม่สมบูรณ์
แต่ก็เป็นหลักฐานที่สำคัญว่าในพื้นที่แห่งนี้ นอกจากจะมีสัตว์กินพืชหลากหลายชนิด อย่าง ช้างดึกดำบรรพ์กว่า 10 สกุล แรด หมู แอนทราโคแธร์ ชาลิโคแธร์ ยีราฟ ม้า เอปโคราช สัตว์เคี้ยวเอื้องอีกจำนวนมาก ยังมีสัตว์นักล่าที่อยู่สูงสุดในห่วงโซ่อาหาร คอยควบคุมประชากรสัตว์ในพื้นที่นี้ด้วย และแสดงให้เห็นถึงระบบนิเวศและความหลายทางชีวภาพของสัตว์ดึกดำบรรพ์ในพื้นที่นี้ได้เป็นอย่างดี
ชื่อของฟอสซิลเสือ “แพคีแพนเธอรา พิริยะอิ” มาจาก ชื่อสกุล : Pachy ภาษากรีก แปลว่า หนา (thick) + panthera หมายถึงสัตว์ในสกุลเสือ บ่งบอกถึงตัวอย่างฟอสซิลขากรรไกรที่ใหญ่และหนา ส่วนชื่อสปีชีส์ : piriyai ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่คุณพิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้มอบตัวอย่างให้ศึกษาวิจัย
ขอขอบคุณที่มา FB : Fossil World