svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

โอนไร่ละพัน 3 วัน ถึงมือชาวนาแล้ว 2.63 ล้านราย

ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ติดตามการโอนเงินโครงการไร่ละพัน 3 วันแรกโอนไปแล้ว 47 จังหวัด ถึงมือเกษตรกร 2.63 ล้านราย มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานรวมถึงลูกค้า ธ.ก.ส. ในพื้นที่สาขาปางมะผ้า และสาขาแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งถือเป็น 1 ใน 17 จังหวัดแรกที่เกษตรกรลูกค้าของธนาคารได้รับการโอนเงินตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2567/68 ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 10 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอการดำรงชีวิต ลดค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกข้าว และส่งเสริมให้การผลิตข้าวมีความคุ้มค่าและเพิ่มกำไร ตั้งเป้าหมายเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 4.61 ล้านครัวเรือน วงเงินรวม 37,414 ล้านบาท 

โอนไร่ละพัน 3 วัน ถึงมือชาวนาแล้ว 2.63 ล้านราย

โดย 3 วันที่ผ่านมา (16-18 ธันวาคม 2567) ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการโอนเงินให้แก่เกษตรกรตามข้อมูลรายชื่อจากกรมส่งเสริมการเกษตร ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เรียบร้อยแล้ว 47 จังหวัด 2.63 ล้านราย เป็นจำนวนเงิน 20,792 ล้านบาท ส่วนวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2567 ธ.ก.ส. จะดำเนินการโอนเงินให้กับเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จำนวน 8 จังหวัด 1.40 ล้านครัวเรือน วงเงิน 11,822 ล้านบาท และวันศุกร์ที่  20 ธันวาคม 2567 จะโอนให้กับเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ จำนวน 22 จังหวัด 1.56 แสนครัวเรือน วงเงิน 1,303 ล้านบาท 

โอนไร่ละพัน 3 วัน ถึงมือชาวนาแล้ว 2.63 ล้านราย
โอนไร่ละพัน 3 วัน ถึงมือชาวนาแล้ว 2.63 ล้านราย

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง หรือข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชี ผ่านบริการ BAAC Connect ทาง Line: BAAC Family และยังได้ติดตามการให้บริการสินเชื่อเงินด่วนคนดี อสม. กึ่งแสน และ อสส. เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้กับลูกค้ารายเดิมที่กู้เงินภายใต้โครงการสินเชื่อเงินด่วนคนดี ที่ชำระเงินตรงงวดครบ 4 เดือน สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องในการลงทุนประกอบอาชีพ วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 50,000 บาท ผ่อนชำระ 600 บาทต่อเดือน 123 งวด โดยจ่ายสินเชื่อให้กับสมาชิกอสม. และ อสส. ไปแล้วกว่า 254,000 ราย

โอนไร่ละพัน 3 วัน ถึงมือชาวนาแล้ว 2.63 ล้านราย

นอกจากนี้ ในระหว่างการลงพื้นที่ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยังได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่สูง โดยเป็นศูนย์กลางแห่งการส่งเสริมองค์ความรู้ครบวงจร ทั้งทางด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนที่สูง อาทิ ด้านการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ท้องถิ่นและเฟิร์นการผลิตไม้ผลและไม้ยืนต้น การบริหารจัดการน้ำ การประมงบนพื้นที่สูง และการจัดการระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อสนับสนุนให้คนในชุมชนในพื้นที่ห่างไกลให้สามารถสร้างอาชีพและสร้างรายได้ด้วยการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างสมดุล ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความกินดีอยู่ดีแบบพอเพียง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

โอนไร่ละพัน 3 วัน ถึงมือชาวนาแล้ว 2.63 ล้านราย
 

จากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมชมหมู่บ้านนาปลาจาด หนึ่งในชุมชนอุดมสุข ต้นแบบชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งให้บริการที่พักแบบโฮมสเตย์ พร้อมจัดโปรแกรมท่องเที่ยววิถีชุมชน ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาสัมผัสวิถีและวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนชุมชนแบบใกล้ชิด เช่น การชมไร่กระเทียม ร่วมกิจกรรมการปลูกกระเทียม และการแปรรูปกระเทียม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ซึ่งเป็นอาชีพและรายได้หลักของคนในหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีการเพาะเลี้ยงปลาพลวง เลี้ยงไก่ดำ และปลูกพืชเศรษฐกิจ ด้วยวิธีเกษตรผสมผสาน ได้แก่ ข้าวและถั่วเหลือง ซึ่งในกระบวนการผลิตได้มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากมูลสัตว์ ซึ่งถือเป็นการลดปริมาณของเสียและบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชนอย่างคุ้มค่า 

โอนไร่ละพัน 3 วัน ถึงมือชาวนาแล้ว 2.63 ล้านราย

นอกจากนี้ ยังมีโรงสีข้าวพลังน้ำแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ใช้พลังน้ำจากแม่น้ำแม่สะงีที่ไหลผ่านหมู่บ้านในการสีข้าว อันเป็นการลดต้นทุนในการผลิตและการประยุกต์ใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทั้งนี้ หมู่บ้านนาปลาจาดยังเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษากระบวนการผลิตวิถีเกษตรผสมผสานและการแปรรูปผลผลิต เพื่อสร้างงานและรายได้เสริม รวมถึงเป็นจุดอบรมโครงการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพให้กับลูกหนี้ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อยอีกด้วย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเดินทางมาเยี่ยมชมและสัมผัสการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ที่ หมู่บ้านนาปลาจาด หมู่ที่ 4 ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน