คนเราดื่มกาแฟทุกวัน อาจวันละหลายแก้วด้วยซ้ำ สำหรับชาวออสซี่ที่มีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟคึกคักกว่าแถบเอเชีย ซึ่งในแต่ละปี “กากกาแฟ” ที่เหลือทิ้งจากการบริโภคน่าจะมีปริมาณมหาศาล ซึ่งที่ออสเตรเลีย “กากกาแฟ” ไม่ได้มีประโยชน์แค่เป็นปุ๋ยปลูกต้นไม้เท่านั้น
ล่าสุด ทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย The Royal Melbourne Institute of Technology (RMIT University) มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ด้าน Art & Design ของออสเตรเลีย โดย Dr. Rajeev Roychand, Dr. Shannon Kilmartin-Lynch, Dr. Mohammad Saberian, Jie Li, Guomin (Kevin) Zhang, และ Chun-Qing Li ได้ค้นพบวิธีรีไซเคิลกากกาแฟเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของคอนกรีตให้แข็งแกร่งขึ้น
โดยทีมวิจัยได้ใช้กระบวนการที่เรียกว่า “ไพโรไลซิส” (Pyrolysis) ซึ่งเกิดจากการคั่วกากกาแฟใช้แล้วที่อุณหภูมิสูงกว่า 300 องศาเซลเซียส โดยไม่ใช้ออกซิเจนเพื่อให้ได้ออกมาเป็น “ถ่านชีวภาพ” หรือ “Biochar” ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยกระบวนการนี้ช่วยทดแทนทรายที่มักใช้ในการผลิตคอนกรีตได้ราว 15% ซึ่งผลลัพธ์คือสามารถรับกำลังอัดเพิ่มขึ้นได้ถึง 29.3% เลยทีเดียว เมื่อเทียบกับคอนกรีตแบบเดิมที่ใช้ทราย
ทางด้าน Dr.Shannon Kilmartin-Lynch หนึ่งในผู้ร่วมนำการศึกษา เผยว่า ถ่าน Biochar จากกากกาแฟนั้นมีความละเอียดกว่าทราย แต่ก็เป็นวัสดุที่มีรูพรุนเช่นกัน ดังนั้น จึงช่วยให้ซีเมนต์เกาะตัวกันภายในโครงสร้างที่มีรูพรุนของถ่าน Biochar ได้ดี
สำหรับ “กาแฟ” นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาจกำลังได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจต่างกำลังคิดค้นนวัตกรรมเพื่อนำขยะกากกาแฟกลับมารีไซเคิลเพื่อความยั่งยืนต่อไปในอนาคต