ปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับภัยแล้งไม่มีน้ำอย่างเพียงพอ ซึ่งการสร้างฝายมีประโยชน์ช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ลดการพังทลายของหน้าดิน ลดความรุนแรงของการเกิดไฟป่า ยังช่วยกักเก็บตะกอนและวัสดุต่างๆ ที่ไหลลงมากับน้ำช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
โครงการสร้างฝาย เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อสังคม ที่ครองใจบริษัททั้งภาครัฐและภาคเอกชน แต่สำหรับมุมมองของนักนิเวศ การสร้างฝายโดยเฉพาะฝายที่ขวางลำน้ำตามธรรมชาติ ไม่ต่างจากการนำสิ่งแปลกปลอมเข้าไปทำลายระบบนิเวศ ซึ่งการสร้างฝายที่ขวางกั้นลำน้ำจะทำให้น้ำหน้าฝายยกตัวสูงขึ้น กระแสน้ำไหลช้าลง ส่งผลให้คุณภาพน้ำย่ำแย่ พื้นลำธารตื้น และฝายยังขัดขวางการอพยพตามธรรมชาติของสัตว์ในลำธารอีกด้วย ส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศลำธารลดลง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
การสร้างฝายให้เป็นประโยชน์มากกว่าโทษ
มีแนวทางดังนี้ คือ ควรเลือกสร้างฝายชั่วคราวจากวัสดุธรรมชาติเฉพาะในฤดูแล้งเท่านั้น แล้วรื้อฝายออกในฤดูน้ำหลาก ส่วนฝายถาวรเป็นสิ่งที่ไม่ควรสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝายที่ทำจากกระสอบพลาสติก ยางรถยนต์ หรือวัสดุสังเคราะห์อื่นๆ เพราะจะทำให้เกิดมลภาวะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบด้านสุขภาพต่อสิ่งมีชีวิตได้
หากในช่วงไหนต้องเจอกับภัยแล้ง หรือใกล้หน้าแล้งอาจสร้างฝายชั่วคราวจากไม้หรือหินก็ได้ แต่ควรสร้างฝายให้ต้องรื้อออกได้เมื่อหมดหน้าแล้ง เพื่อคืนสมดุลให้ระบบนิเวศ แต่ทางที่ดีที่สุดควรมีประปาภูเขา บ่อน้ำ หรือโอ่งน้ำแยกออกมาโดยไม่รบกวนลำธาร ซึ่งการสร้างฝายควรสร้างในป่าที่มีผู้คนอาศัย ส่วนป่าธรรมชาติที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ ไม่ควรสร้างฝายเพราะจะมีแต่ผลเสียกับระบบนิเวศ
ขอขอบคุณที่มา: FB ป่าสาละ