svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

11 เดือน ต่างชาติลงทุนไทย 2.1 แสนล้าน ญี่ปุ่นครองแชมป์

ต่างชาติลงทุนในไทยไม่แผ่ว 11 เดือน ปี ‘67 ต่างชาติลงทุนในไทย 213,964 ล้านบาท ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง 239 ราย ลงทุน 119,057 ล้านบาท สิงคโปร์ 120 ราย ลงทุน 16,332 ล้านบาท และ จีน 117 ราย ลงทุน 16,674 ล้านบาท

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เปิดเผยว่า 11 เดือนของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 884 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 202 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 682 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 213,964 ล้านบาท โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 
 

11 เดือน ต่างชาติลงทุนไทย 2.1 แสนล้าน ญี่ปุ่นครองแชมป์

1. ญี่ปุ่น 239 ราย คิดเป็นร้อยละ 27 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 119,057 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ  ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้บริการทดสอบทางเทคนิคเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องยนต์และการใช้พลังงานของยานยนต์ไฟฟ้าของลูกค้า ธุรกิจการจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ส่วนประกอบและชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจการขายอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า อาทิ ชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานพาหนะ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ

2. สิงคโปร์ 120 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 16,332 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ บริการทางวิศวกรรมและเทคนิคด้านต่างๆ เช่น การออกแบบทางวิศวกรรม และการวางระบบโครงสร้างการผลิต ธุรกิจการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการขุดเจาะปิโตรเลียม ภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจซึ่งเป็นพื้นที่สัมปทานในอ่าวไทย ธุรกิจบริการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ Cloud Service ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับเทคโนโลยีขั้นสูง เครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

11 เดือน ต่างชาติลงทุนไทย 2.1 แสนล้าน ญี่ปุ่นครองแชมป์ 11 เดือน ต่างชาติลงทุนไทย 2.1 แสนล้าน ญี่ปุ่นครองแชมป์ 11 เดือน ต่างชาติลงทุนไทย 2.1 แสนล้าน ญี่ปุ่นครองแชมป์

3. จีน 117 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 16,674 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา และฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่างๆ เพื่อติดตั้งระบบสายพานที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการบริการพัฒนา Enterprise Software  ธุรกิจบริการสถานที่สำหรับเล่นเกมแก้ไขปริศนา (Escape Room) ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ชิ้นส่วนสำหรับเครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับระบบการสื่อสารแบบใยแก้วนำแสง

4. สหรัฐอเมริกา 115 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 23,555 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การติดตั้ง บำรุงรักษา แก้ไข และปรับแต่งเว็ปไซต์ เป็นต้น ธุรกิจค้าปลีกสินค้า อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวหน้าและผิวกาย เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการซ่อมแซมและบำรุงรักษากล้องส่องตรวจ ท่อส่องตรวจ และเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า อาทิ ลูกอม ขนมขบเคี้ยว หมากฝรั่ง อาหารสำเร็จรูป Electro Magnetic Product, แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

5. ฮ่องกง 62 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 14,508 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ  ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการฝึกอบรม ติดตั้ง บำรุงรักษา ซ่อมแซม และการปรับ (Calibration) เกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือ และอุปกรณ์ ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น การตอบคำถามโดยใช้เสียง (Voice to Voice) และการเสนอโฆษณาตามลักษณะของลูกค้า ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า อาทิ ด้ายหรือผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป ชุดแบตเตอรี่ความจุสูง (High Density Battery)
    
ถือได้ว่าการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้นมีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมเครนในทะเล องค์ความรู้เกี่ยวกับการตรวจรหัสพันธุกรรมมะเร็ง องค์ความรู้เกี่ยวกับการเจียระไนชิ้นงานเซรามิก องค์ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบและซ่อมแซมเกี่ยวสินค้าประเภทเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เป็นต้น 

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 272 ราย (44%) (เดือน ม.ค. - พ.ย. 67 อนุญาต 884 ราย / เดือน ม.ค. - พ.ย. 66 อนุญาต 612 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 115,676 ล้านบาท (118%) (เดือน ม.ค. - พ.ย. 67 ลงทุน 213,964 ล้านบาท / เดือน ม.ค. - พ.ย. 66 ลงทุน 98,288 ล้านบาท) ขณะที่มีการจ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวลดลง 2,415 ราย (40%) (เดือน ม.ค. - พ.ย. 67 จ้างงาน 3,671 คน / เดือน ม.ค. - พ.ย. 66 จ้างงาน 6,086 คน) โดยจำนวน นักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน 
        
อธิบดีอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 11 เดือน ของปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 281 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 161 ราย (134%)  (เดือน ม.ค. - พ.ย. 67 ลงทุน 281 ราย / เดือน ม.ค. – พ.ย. 66 ลงทุน 120 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 50,396 ล้านบาท คิดเป็น 24% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 30,865 ล้านบาท (158%) (เดือน ม.ค. - พ.ย. 67 เงินลงทุน 50,396 ล้านบาท / เดือน ม.ค. - พ.ย. 66 เงินลงทุน 19,531  ล้านบาท) เป็นนักลงทุนจาก *ญี่ปุ่น 96 ราย ลงทุน 18,637 ล้านบาท *จีน 67 ราย ลงทุน 9,284 ล้านบาท *ฮ่องกง 19 ราย ลงทุน 5,223 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 99 ราย ลงทุน 17,252 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ

- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์

- ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบส่วนประกอบและชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อค้าส่งในประเทศ    

- ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน (Software Platform) 

- ธุรกิจบริการชุบแข็ง (Heat Treatment)

 - ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น ชิ้นส่วนยานพาหนะ ชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนพลาสติก เป็นต้น 
    
สำหรับการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจฯ เดือนพฤศจิกายน 2567 มีจำนวน 98 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจฯ 21 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจฯ 77 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 42 ราย (75%) (พ.ย.67 จำนวน 98 ราย / พ.ย.66 จำนวน 56 ราย) โดยมีเงินลงทุนทั้งสิ้น  52,545 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 49,223 ล้านบาท (1,482%) (พ.ย.67 จำนวน 52,545 ล้านบาท / พ.ย.66 จำนวน 3,322 ล้านบาท)

นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ * ญี่ปุ่น 28 ราย ลงทุน 21,107 ล้านบาท รองลงมา * จีน 14 ราย ลงทุน 2,868 ล้านบาท  * สหรัฐอเมริกา 12 ราย ลงทุน 19,002 ล้านบาท ตามลำดับ

ประเภทธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New-Curve) อาทิ

- บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้บริการทดสอบทางเทคนิคเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องยนต์และการใช้พลังงานของยานยนต์ไฟฟ้า

- บริการขุดเจาะปิโตรเลียม ภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจซึ่งเป็นพื้นที่สัมปทานในอ่าวไทย

- บริการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ Cloud Service

- บริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น แม่พิมพ์และชิ้นส่วนแม่พิมพ์, ชิ้นส่วนยานพาหนะ, ชิ้นส่วนเครื่องจักร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น