เป็นที่รู้กันว่า วาฬสีน้ำเงิน เป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนักตัวสูงสุดถึง 200 ตัน แต่ดูเหมือนว่าจะถูกล้มแชมป์ซะแล้ว เนื่องจากตอนนี้มีการค้นพบฟอสซิลวาฬโบราณอายุ 39 ล้านปี บริเวณทางตอนใต้ของประเทศเปรู จากการคาดคะเนเบื้องต้นอาจหนักมากกว่า 300 ตัน เลยทีเดียว
ฟอสซิลวาฬโบราณ อายุ 39 ล้านปี นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อว่า Perucetus colossus ซึ่งมาจากชื่อประเทศที่ถูกค้นพบคือ Peru บวกกับคำว่า Cetus แปลว่าวาฬในภาษาละติน และ Colossus มาจากภาษากรีกโบราณ Kolossós ซึ่งหมายถึงรูปปั้นขนาดใหญ่ ซึ่งในที่นี้หมายถึง วาฬที่มีน้ำหนักหนักมากๆ นั่นเอง
จากการค้นพบซากฟอสซิลสัตว์โบราณครั้งนี้นักวิจัยเผยว่าพบกระดูกสันหลัง 13 ชิ้น กระดูกซี่โครง 4 ชิ้น และกระดูกสะโพก 1 ชิ้น ถึงแม้จะดูไม่มากแต่หลักฐานเท่านี้ก็ช่วยให้ประเมินน้ำหนักได้เม่นยำขึ้น มีการคาดคะเนเบื้องต้นด้วยวิธีเปรียบเทียบอัตราส่วนของกล้ามเนื้อ ไขมัน และความหนาแน่นของกระดูก คำนวณได้คราวๆ ว่า เจ้าวาฬโบราณ Perucetus colossus อาจยาวราว 18 เมตร หนักได้ถึง 93-340 ตัน เลยทีเดียว หากสัตว์ชนิดนี้อยู่ในช่วงน้ำหนักที่หนักที่สุด มันจะเป็นสัตว์ที่หนักที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา
Giovanni Bianucci จาก University of Pisa เผยว่า
ได้ใช้เศษส่วนโครงกระดูกในการประมวลร่างกายของวาฬโบราณ ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดนี้เป็นสัตว์ที่มีน้ำหนักมากที่สุดในประวัติการณ์ ส่วนนักวิจัยวาฬได้กล่าวว่าการค้นพบในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าเราประเมินขนาดลำตัวของวาฬยุคแรกในยุค Eocene ตอนปลายต่ำเกินไป อย่างไรก็ตามยังต้องใช้กระดูกมากกว่านี้ในการระบุน้ำหนักที่แท้จริง
ส่วนคำถามที่ว่า วาฬโบราณชนิดนี้กินอะไรเป็นอาหาร นักวิทยาศาสตร์คาดว่า
มันอาจกินปลาตัวใหญ่ หอยต่างๆ สัตว์เปลือกตามพื้นทรายน้ำตื้น รวมถึงซากสัตว์ ซึ่งนักวิทย์ก็หวังว่าจะเจอหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนมากกว่านี้
ขอขอบคุณที่มา : IFL Science / FB Departamento de Paleontología de Vertebrados MUSM