ภายหลังได้มีประกาศกรมสินทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ปลาทูแม่กลอง” ทะเบียนเลขที่ สช 66100207 ให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ปลาทูแม่กลอง โดยลักษณะเฉพาะของปลาทูแม่กลองจะต้องมีลักษณะหน้าเป็นสามเหลี่ยม ตัวสั้น แบน เนื้อเยอะ เนื้อนิ่ม ลำตัวสีเงินหรืออมเขียว ตาดำ หนังบาง รสชาติหวานมัน และผลอตจากพื้นที่สามอำเภอ ของ จ.สมุทรสงครามเท่านั้น
นายปัญญา โตกทอง เกษตรกรปราชญ์ท้องถิ่น ชาว ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า
นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ภาครัฐได้ให้ความสนับสนุน ผลักดันปลาทูแม่กลองให้เป็นสินค้าขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
“ปลาทูแม่กลองมีลักษณะโดดเด่น แตกต่างจากที่อื่นๆ ตรงที่ปลาทูแม่กลองจะมีขนาดลำตัวเล็ก แต่เนื้อมัน ละเอียด รสชาติหวานมันกว่าปลาทูอินโด ปลาทูอันดามัน ที่มีขนาดใหญ่กว่า แต่เนื้อจะหยาบแข็งกว่า แต่จากปัญหามลพิษในทะเล ที่คนเราต่างทิ้งของเสียลงไปรวมเหมือนถังขยะ ทำให้ปลาทูแม่กลองแท้ๆ หายากขึ้นทุกที” นายปัญญา กล่าว
"การจับปลาอย่างทำลายล้างโดยกองเรือประมงพาณิชย์ ก็กำลังคุกคามความอยู่รอดของปลาทูแม่กลองเช่นกัน โดยเฉพาะการจับลูกปลาทูวัยอ่อน และการจับปลามากเกินไป ทำให้ในขณะนี้ปลาทูแม่กลองแท้ๆ มีน้อยไม่พอต่อความต้องการของตลาด และกำลังลดจำนวนลงเรื่อย ๆ"
"ตอนนี้ถ้าไปหาปลาทูในตลาด จะพบว่า ครึ่งต่อครึ่งของปลาทูที่โฆษณาว่าเป็นปลาทูแม่กลอง จริงๆ แล้วเป็นปลาทูน้ำลึกที่จับจากอินโดนีเซีย และทะเลอันดามัน ซึ่งมีขนาดตัวใหญ่กว่า แต่ว่าเนื้อมีรสชาติอร่อยน้อยกว่าปลาทูแม่กลองแท้ๆ โดยสิ้นเชิง"
“ผมหวังว่า การขึ้นทะเบียน GI ปลาทูแม่กลอง จะทำให้คนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นว่า ปลาทูแม่กลองแท้ๆ เป็นอย่างไร และหวังว่าจะปลุกกระแสให้คนกลับมาสนใจปลาทูแม่กลองมากขึ้น และหันมาอนุรักษ์ปลาทูแม่กลองให้อยู่ยั่งยืนต่อไป” นายปัญญา กล่าว
ข้อมูลจากบทความโดย ศรีวิการ์ สันติสุข ระบุว่า
ปลาทูแม่กลองเป็นปลาทูอ่าวไทย ที่มีวงจรชีวิต เกิดเป็นลูกปลาที่แถบหมู่เกาะอ่างทอง ใน จ.สุราษฎร์ธานี จากนั้นพอเริ่มโตในช่วงปลายฝนจะว่ายเลาะเลียบชายฝั่งขึ้นเหนือ มาโตเป็นปลาทูสาว หากินในบริเวณปากแม่น้ำแม่กลอง
จากอิทธิพลตะกอนแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์จากแม่น้ำแม่กลอง และระบบนิเวศปากแม่น้ำที่เพียบพร้อมไปด้วยแร่ธาตุสารอาหารนี้เอง ทำให้ปลาทูที่เจริญเติบโตเต็มวัยในบริเวณนี้มีรสชาติดีที่สุด ปลาทูอ่าวแม่กลอง จึงเป็นปลาที่ไม่เพียงโตเต็มที่ แต่ยังโตอย่างมีคุณภาพ ทำให้เนื้อนุ่ม ละเอียด มีรสชาติหวานมัน
วิธีการจับก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้รสชาติของปลาดี โดยเฉพาะสมัยก่อนที่จับกันแบบนุ่มนวลด้วยการใช้ ‘โป๊ะ’ อุปกรณ์จากภูมิปัญญาพื้นบ้าน ทำจากไม้ไผ่ล้อมเป็นวงกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่กับที่ มีแนวปีกเป็นช่องทางล่อให้ปลาทูว่ายเข้าไป เมื่อปลาทูว่ายเข้ามาอยู่ในโป๊ะ ชาวประมงก็จะจับขึ้นมา การจับปลาแบบนี้ทำให้ปลาไม่ตกใจ ไม่เครียด เนื้อปลาจึงสด หวาน มัน แล้วยังไม่บอบช้ำ ท้องไม่แตก ทำให้รสชาติเนื้อปลายังคงสภาพดีที่สุด