svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

กรม ทช. ยกระดับการสำรวจ ป้องกันการสูญพันธ์ุ “วาฬบรูด้า”

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชี้ ความนิยมล่องเรือดูวาฬบรูด้า เสี่ยงอันตราย รบกวนพฤติกรรมธรรมชาติ หวั่นกระทบถึงขั้นสูญพันธุ์ เตรียมเสนอมาตรการคุ้มครอง จากกิจกรรมท่องเที่ยว พร้อมขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมอนุรักษ์จากทุกภาคส่วน

 

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (กรม ทช.)ตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ทะเลหายากในน่านน้ำไทย เนื่องจากเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่าสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศท้องทะเล และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ได้พบเห็น พร้อมทั้งช่วยยกระดับการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย ในการนี้ กรม ทช.ได้ดำเนินการสำรวจสัตว์ทะเลหายาก ทั้งทางเรือ ทางอากาศ และนำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจ พบสัตว์ทะเลหายากในน่านน้ำไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ โลมาและวาฬ 27 ชนิด พะยูน 1 ชนิด และเต่าทะเล 5 ชนิด

ทั้งนี้ ในบริเวณชายฝั่งทะเล จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ พบสัตว์ทะเลหายาก 7 ชนิด ได้แก่ วาฬบรูด้า โลมาอิรวดี โลมาหัวบาตรหลังเรียบ โลมาหลังโหนก เต่าตนุ เต่ากระ และปลาฉลามวาฬ จากการสำรวจเชิงลึกพบว่า โลมาอิรวดี จะพบในพื้นที่ชายฝั่งทะเล จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม โลมาหัวบาตรหลังเรียบ จะพบมากในพื้นที่ชายฝั่งทะเล จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปลาฉลามวาฬ จะพบบ่อยในพื้นที่เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

ส่วน “วาฬบรูด้า” เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากชนิดที่พบแพร่กระจายตลอดแนวชายฝั่งของอ่าวไทย โดยเฉพะชายฝั่งทะเลจ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ

กรม ทช. ยกระดับการสำรวจ ป้องกันการสูญพันธ์ุ “วาฬบรูด้า”

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดี กรม ทช. รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) กล่าวหลังจากนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ ชายฝั่งทะเล สมุทรสาคร ว่า การนิยมล่องเรือดูวาฬบรูด้าในบริเวณ “อ่าวไทยตัว ก” มีความเสี่ยงเนื่องจาก “วาฬบรูด้า” เป็นสัตว์ที่ไม่ชอบการถูกรบกวน แต่จากการที่มีเรือนำเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมเป็นประจำทุกวัน ทำให้วาฬเกิดความคุ้นเคย หลายครั้งพบว่าเรือนำเที่ยวเข้าไปในระยะที่ใกล้จนอาจเป็นอันตราย รบกวนพฤติกรรมของวาฬในธรรมชาติ หากไม่รีบยับยั้งการกระทำแบบนี้ อนาคตวาฬบรูด้าอาจสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย

ที่ผ่านมา กรม ทช. ศึกษารวบรวมข้อมูลสถานการณ์ สภาพปัญหาและผลกระทบจากการท่องเที่ยว ชมวาฬบรูด้า พร้อมทั้งยื่นเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ เพื่อให้ออกเป็นประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองวาฬบรูด้าจากกิจกรรมท่องเที่ยว พ.ศ. ….. ต่อไป

กรม ทช. ยกระดับการสำรวจ ป้องกันการสูญพันธ์ุ “วาฬบรูด้า”

นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ออกสำรวจสัตว์ทะเลหายาก ทั้งทางเรือ ทางอากาศ และติดตามการรายงานจากสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินแนวโน้มจำนวนประชากรและจัดทำฐานข้อมูลสัตว์ทะเลหายากในประเทศไทย เพื่อเป็นการยกระดับความสำคัญของสัตว์ทะเลหายากบางชนิดให้เป็นสัตว์สงวนและสัตว์คุ้มครอง

รวมถึงดำเนินการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น เพื่อรักษาฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ทะเลหายากก่อนปล่อยคืนสู่ท้องทะเล ตลอดจนการชันสูตรสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเพื่อหาสาเหตุ และแนวทางป้องกันเพื่อลดการสูญเสีย พร้อมทั้งดำเนินการสร้างเครือข่าย และอบรมเครือข่ายในการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเบื้องต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นและลดอัตราการเสียชีวิตได้ 

กรม ทช. ยกระดับการสำรวจ ป้องกันการสูญพันธ์ุ “วาฬบรูด้า”

ปัจจุบัน มีการดำเนินงานทั้งหมดนี้ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่พี่น้องประชาชน ในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก รวมถึงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงอยู่ในระบบนิเวศอย่างสมดุล และยั่งยืน

ที่ผ่านมา กรม ทช. ได้สนับสนุน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู รักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นมรดกของประเทศไทย ในโอกาสนี้ รรท.อทช. ฝากถึงประชาชนในเรื่องของการท่องเที่ยวทะเลหรือเที่ยวชมวาฬบรูด้า ว่า “ควรเก็บภาพเป็นความทรงจำ มิใช่เก็บเอาทรัพยากรทางทะเล” พร้อมทั้งขอให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ให้คำนึงถึงธรรมชาติเป็นหลัก รักเสมือนคนในครอบครัว และช่วยปฏิบัติตามข้อระเบียบกรมฯอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำและปรับ “นายอภิชัย กล่าวทิ้งท้าย