อากาศร้อนแบบนี้ทุกอาคารบ้านเรือนต้องใช้ไฟฟ้ามากกว่าปกติ ส่งผลให้บิลค่าไฟแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่บางครอบครัวก็ออกมาบอกว่าที่บ้านไม่ได้ใช้ไฟมากมายอะไร ทำไมค่าไฟแพง!! นั่นอาจเป็นเพราะเราอาจเปิดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟอยู่หรือเปล่า มาดูกันดีกว่าว่า 10 อันดับเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่กินไฟมากที่สุด มีอะไรกันบ้าง
อันดับที่ 1 เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้า ขนาด 3,500 – 8,000 วัตต์
อันดับที่ 2 เตารีดไฟฟ้า (แห้ง–ไอน้ำ) ขนาด 1,000 – 2,600 วัตต์
อันดับที่ 3 ไดรเป่าผม ขนาด 1,000 – 2,200 วัตต์
อันดับที่ 4 เตาไมโครเวฟ (20–32 L) ขนาด 1,000 – 1,880 วัตต์
อันดับที่ 5 เครื่องปรับอากาศ ชนิด FIXED SPEED (9,000 – 36,000 BTU/hr) ขนาด 730 – 3,300 วัตต์
อันดับที่ 6 เครื่องปรับอากาศ ชนิด INVERTER (9,000 – 36,000 Btu/hr) ขนาด 455 – 3,300 วัตต์
อันดับที่ 7 เครื่องซักผ้า (แบบตั้ง, ถังนอน) ขนาด 450 – 2,500 วัตต์
อันดับที่ 8 หม้อหุงข้าวไฟฟ้า (1–3L) ขนาด 450 – 1,000 วัตต์
อันดับที่ 9 ตู้เย็น (40 – 735 ลิตร, 1.4–26 คิว) ขนาด 70 – 145 วัตต์
อันดับที่ 10 พัดลมไฟฟ้า (12 นิ้ว–18 นิ้ว) ขนาด 35 – 80 วัตต์
การไฟฟ้านครหลวง (MEA) แนะนำการประหยัดไฟฟ้าโดยยึดหลัก “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน” ดังนี้
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) เผย 5 เทคนิคง่าย ๆ อยู่บ้านหน้าร้อนอย่างไรให้ประหยัดไฟและเงินในกระเป๋า
1. เปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 26 – 27 องศาเซลเซียส
อากาศร้อนอบอ้าวของประเทศไทย ทำให้คนส่วนใหญ่เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเปิดแอร์เพื่อช่วยคลายความร้อน ดังนั้นวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยประหยัดไฟ คือ ตั้งอุณหภูมิแอร์ที่ 26 – 27 องศาเซลเซียส ก็สามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นถึง 10%
2. เลือกใช้พัดลมแทนเครื่องปรับอากาศ
หากอากาศไม่ร้อนมากจนเกินไปแนะนำให้ทุกคนหันมาใช้พัดลมแทนเครื่องปรับอากาศ เพราะพัดลมใช้พลังงานเพียง 1 ใน 60 ของเครื่องปรับอากาศ จึงช่วยประหยัดไฟฟ้าได้มากถึง 40 % ดังนั้นวิธีนี้จะช่วยทำให้ค่าไฟฟ้าในบ้านของคุณถูกลงอย่างแน่นอน
3. เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ
สังเกตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและประหยัดไฟมากกว่าเดิมเมื่อเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีฉลากเบอร์ 5 ยิ่งดาวมากยิ่งประหยัดไฟมาก
4. เลือกใช้หลอดไฟ LED แทนหลอดไฟธรรมดา
หลอดไฟ LED ให้แสงสว่างมากกว่าหลอดไฟแบบธรรมดา แต่กินไฟน้อยกว่าและมีอายุการใช้งานที่นานกว่า อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าหลอดไฟธรรมดา เพราะไม่มีรังสียูวีที่สามารถทำร้ายผิวและไม่มีสารพิษในหลอดไฟอย่างพวกสารปรอทด้วย
5. ถอดปลั๊กและปิดสวิตช์เมื่อเลิกใช้งาน
การปิดสวิตช์ไฟแต่ยังเสียบปลั๊กทิ้งไว้ ทำให้กระแสไฟฟ้ายังคงไหลเวียนอยู่ ดังนั้นเมื่อเลิกใช้งานแล้วจึงควรปิดและถอดปลั๊กทุกครั้ง อีกทั้งวิธีนี้ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยภายในบ้านอีกด้วย
การประหยัดไฟด้วยเทคนิคง่าย ๆ และสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา นอกจากทำให้หน้าร้อนนี้เย็นกายแล้ว ยังสบายกระเป๋า ค่าไฟฟ้าไม่บานปลายอย่างแน่นอน