svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

สืบหาต้นตอ วอล์กกี ทอล์กกี-เพจเจอร์ ระเบิดในเลบานอน

ขณะนี้กำลังมีการตรวจสอบทั้งในญี่ปุ่นและฮังการี หลังจากมีบริษัทถูกระบุว่า เป็นผู้ผลิตวอล์กกี ทอล์กกี และเพจเจอร์ ที่เกิดระเบิดในเลบานอน ขณะผู้เชี่ยวชาญ คาดว่า ปฏิบัติการโจมตีในวงกว้างที่ทำลายระบบสื่อสารของฮิซบอลเลาะห์ครั้งนี้อาจวางแผนเป็นหลายเดือนหรือเป็นปี

บริษัทไอคอม (ICOM) ของญี่ปุ่น ระบุว่า กำลังตรวจสอบว่า วิทยุสื่อสารพกพา หรือ วอล์กกี-ทอล์กกี ที่ระเบิดในเลบานอน และทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20 คน บาดเจ็บมากกว่า 450 คน เมื่อวันพุธ (18 กันยายน) เป็นของบริษัทจริงหรือไม่ เนื่องจากพบโลโก้ของบริษัท และข้อความว่า “ผลิตในญี่ปุ่น” ติดอยู่ที่อุปกรณ์ที่เสียหาย

บริษัท บอกว่า ไม่อาจตัดความเป็นไปได้ว่า วอล์กกี-ทอล์กกี รุ่น ไอซี-วี82 (IC-V82) ซึ่งตรงกับภาพอุปกรณ์ที่เกิดระเบิด อาจเป็นของปลอม แต่ก็มีโอกาสเป็นสินค้าของบริษัท โดยบริษัทจำหน่ายรุ่นนี้ราว 160,000 เครื่อง ภายในประเทศและต่างประเทศ ก่อนยุติการขายในปี 2557  และจากภาพถ่ายที่เห็นความเสียหายของบริเวณแบตเตอรี บ่งชี้ว่า แบตเตอรีอาจถูกเปลี่ยนด้วยตัวที่ได้รับการดัดแปลงให้ระเบิดได้ และแม้ไอคอมมีสาขาในยุโรป แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าสินค้าไปอยู่ในตะวันออกกลางได้อย่างไร

ส่วนเพจเจอร์ที่ระเบิดทั่วเลบานอนในวันอังคาร (17 กันยายน) ถูกระบุว่า เป็นรุ่น AP924 ของบริษัโกลด์ อพอลโลในไต้หวัน แต่ทางบริษัทชี้แจ้งว่า เพจเจอร์ดังกล่าว ผลิตโดยบริษัท บีเอซี คอนซัลติง เคเอฟที ในฮังการี ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าของแบรนด์ได้

แต่จากการตรวจสอบของรัฐบาลฮังการี พบว่า บีเอซี เป็นแค่ตัวแทนจำหน่าย ไม่มีสถานที่ผลิต และเหมือนมีเพียงแค่ที่อยู่ในฮังการี แต่เพจเจอร์เหล่านั้นไม่เคยมีอยู่ในฮังการี และหน่วยความมั่นคงฮังการีกำลังร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้

สืบหาต้นตอ วอล์กกี ทอล์กกี-เพจเจอร์ ระเบิดในเลบานอน



แหล่งข่าวความมั่นคงในเลบานอน บอกว่า วอล์กี ทอล์กกี ที่ระเบิดเป็นล็อตที่ฮิซบอลเลาะห์สั่งซื้อเมื่อ 5 เดือนที่แล้ว ช่วงเดียวกับการสั่งซื้อเพจเจอร์

ผู้เชี่ยวชาญ เชื่อว่า มีการซุกซ่อนระเบิดขนาดเล็กจิ๋วไว้ในเพจเจอร์ก่อนการส่งมอบให้ฮิซบอลเลาะห์ และมีข้อบ่งชี้ว่า ผู้อยู่เบื้องหลังต้องเป็นระดับประเทศ และหน่วยข่าวกรอง มอสซาด ของอิสราเอล มีศักยภาพที่จะปฏิบัติการเช่นนี้ได้ รวมทั้งเคยมีประวัติโจมตีด้วยวิธีการคล้ายกันนี้ในอดีต

ขณะที่การวางแผนโจมตีอุปกรณ์สื่อสารเพื่อจัดการสมาชิกฮิซบอลเลาะห์ครั้งนี้ คาดว่า อาจเตรียมการนานหลายเดือนหรือถึง 2 ปี เพราะต้องอาศัยการสร้างความสัมพันธ์มากมายจนกว่าจะสามารถเข้าถึงอุปการณ์สื่อสารเหล่านั้นก่อนการส่งมอบสินค้า ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถฝังระเบิดไว้ในอุปกรณ์ และยังต้องมีสายข่าวที่จะสามารถยืนยันได้ว่า บุคคลเป้าหมายใช้อุปกรณ์ดังกล่าวนั้น เหตุระเบิดระลอกสองในวันพุธ ตอกย้ำว่า เครือข่ายการสื่อสารทั้งระบบของฮิซบอลเลาะห์อาจถูกแทรกซึมโดยอิสราเอลแล้ว

ฮิซบอลเลาะห์ กำลังตรวจสอบด้วยว่า วัตถุระเบิดที่ใช้เป็นชนิดใด ซึ่งอาจเป็น RDX  หรือ PETN ซึ่งเป็นวัตถุระเบิดที่มีอานุภาพร้ายแรงแม้ใช้ปริมาณเพียง 3-5 กรัม และเกิดคำถามด้วยว่า เพจเจอร์และวอล์กกี ทอล์กกี เหล่านั้นมีระบบ GPS ด้วยหรือไม่ จึงทำให้อิสราเอลรู้การเคลื่อนไหวของฮิซบอลเลาะห์ที่ใช้อุปกรณ์เหล่านั้น และเนื่องด้วยการโจมตีวงกว้างขนาดนี้ จะทำให้มั่นใจได้อย่างไรว่า บุคคลอื่น เช่น ลูก ๆ ของสมาชิกฮิซบอลเลาะห์ จะไม่ได้เล่นเพจเจอร์ในขณะที่มีการจุดระเบิด