svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

แฮร์ริส-ทรัมป์? เทียบฟอร์ม คู่ท้าชิงเก้าอี้"ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา"

การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาตื่นตัวขึ้นทันทีเมื่อ ประธานาธิบดี" โจ ไบเด็น" ประกาศถอนตัว พร้อมส่ง รองประธานาธิบดี "กมลา แฮร์ริส" เข้าสวมแทน

พลันที่ ประธานาธิบดี "โจ ไบเด็น" ประกาศถอนตัวการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พร้อมกับประกาศรับรอง ให้  "กมลา แฮร์ริส" รองประธานาธิบดีสหรัฐเข้าสู่สังเวียนชิงชัย กับ "โดนัลด์ ทรัมป์" ทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งครั้งนี้ พลิกฟื้นทันที หากเทียบฟอร์ม "กมลา แฮร์ริส" กับ "ทรัมป์" โดดเด่นแตกต่างอย่างไร  "เนชั่นทีวี" ขอนำบทความ "จักรภพ  เพ็ญแข" นักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศให้มุมมอง  

 

แฮร์ริส-ทรัมป์?   เทียบฟอร์ม คู่ท้าชิงเก้าอี้\"ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา\"

 

การเมืองเลือกตั้งที่ออกจะจืดชืดในสหรัฐอเมริกากลับพลิกฟื้นตื่นตัวขึ้นมาทันทีเมื่อ ประธานาธิบดี "โจ ไบเด็น" ประกาศถอนตัวการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของประเทศในสมัยต่อไปตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็ประกาศรับรองให้ รองประธานาธิบดี "กมลา แฮร์ริส" เข้าสวมแทน

 

ทั้งหมดนี้ กำลังสร้างความตื่นตาตื่นใจอื้ออึงไปทั่วสหรัฐอเมริกาและผู้คนที่สนใจเรื่องนี้ทั่วโลก "ไบเด็น"เลือกจังหวะนี้ในการประกาศถอนตัว ทั้งที่เชื่อได้ว่าได้ตัดสินใจจะถอนตัวมานานแล้ว เพราะอะไร?

ก็เพราะว่าหวังจะทิ้งระเบิดให้พรรครีพับลิกันที่หมกมุ่นวุ่นวายกับการโจมตีตัวเขามาตลอดและไม่ได้คาดคิดว่าจะมีบุคคลอื่นก้าวเข้ามาแทนที่ในห้วงเวลาที่ใกล้กับการเลือกตั้งเช่นนี้ แต่ยุทธวิธีสร้างความประหลาดใจเสมือนหนึ่งเป็นอาวุธโจมตีแบบนี้จะได้ผลขนาดไหน จะสร้างความแตกต่างในสนามเลือกตั้งขนาดที่ "โจ ไบเด็น" หวังไว้หรือไม่ ยังน่าสงสัยอยู่

 

กมลา แฮร์ริส  รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

พูดกันตรง ๆ "กมลา แฮร์ริส" ไม่ใช่ผู้ที่ประสบความสำเร็จนักในตำแหน่งรองประธานาธิบดี สิ่งที่เป็นผลงานโดดเด่นที่สุดของเธอ กลับกลายเป็นการช่วยงานเบื้องหลัง

 

โดยเฉพาะในฐานะผู้แก้ไขปัญหา (fixer) เมื่อ "โจ ไบเด็น" ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากสุขภาพที่เสื่อมโทรมลง บทบาทหลังฉากของเธอถือว่าโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับนับถือของบรรดาผู้นำใน"ฝ่ายเดโมแครต" ในแง่ที่ว่าไม่มีใครปล่อยข่าวให้ตัวแฮร์ริสได้รับชื่อเสียงเกียรติคุณไปแทนตัวประธานาธิบดี คะแนนวินัยจึงได้สูงมาก

ส่วนผลงานโดยตรงในการนั่งหัวโต๊ะของคณะกรรมต่าง ๆ หลายต่อหลายชุด รวมทั้งการเดินทางเยี่ยมเยือนหลากหลายประเทศนั้น ได้ผลน้อยถึงน้อยที่สุด ผู้นำต่างชาติหลายคนแอบพูดหลังไมโครโฟนว่าแฮร์ริส ยังขาดความจัดเจนในฐานะผู้นำโลกเสรีอย่างที่ควรจะเป็น

 

ส่วนในตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ความเป็นคนผิวสี ความเป็นผู้หญิง ความที่เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและอัยการมาก่อน ล้วนเป็นคุณสมบัติทั้งสิ้น น่าจะเสริมตัวเธอให้สามารถทำหน้าที่ผู้แทนของพรรคได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร ส่วนจะถึงชัยชนะหรือไม่คือคำถามที่เรากำลังตั้งกันอยู่

 

ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจในเวลานี้คือ หรือทั้งหมดนี้เป็นเพียงยุทธวิธีชู "กมลา แฮร์ริส" ขึ้นก่อน เพียงเพื่อจะให้ผู้ที่สมาชิกทั่วประเทศของเดโมแครตต้องการให้ลงสมัครรับเลือกตั้งจริง ๆ คือ "มิเชล โอบาม่า" อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ลงสมัครและเป็นผู้แทนพรรคตัวจริง คงจะพิสูจน์ได้ในห้วงเวลาสองอาทิตย์จากนี้ไป

 

อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา "โดนัลด์ ทรัมป์"

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาได้แสดงว่าตนมีความสามารถเชิงระบบในการปรับเปลี่ยนในทางการเมือง ไม่ตึงตัวหรือตายตัวจนเกินไป แต่ข้อเสียก็มาจากอีกด้านของเหรียญเดียวกันคือ ความอ่อนตัวนั้นไม่ได้ช่วยสร้างตัวเลือกของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่หลากหลายจนเพียงพอต่อความต้องการของสังคมปัจจุบัน ตัวเลือกของประชาชนยังคับแคบอยู่ในวังวนของกระบวนการเลือกตั้งที่ทั้งสองพรรคใหญ่ได้วางกฎเกณฑ์มาแล้วเนิ่นนานหลายทศวรรษ

 

ครับ กระแสความต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรุนแรงในสหรัฐฯ จะระเบิดขึ้นในรูปแบบใดนั้น ผมคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะบอกเหตุเราได้มาก โดยเฉพาะจำนวนผู้ออกเสียงเลือกตั้งจริง ๆ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ว่าจะมีมากเท่าไหร่