สำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ได้มอบหมายให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา (NASA) สร้างระบบอ้างอิงเวลาที่มีดวงจันทร์เป็นศูนย์กลาง และกำหนดค่ามาตรฐานของเวลาที่เรียกว่า "เวลาสากลเชิงพิกัดบนดวงจันทร์" หรือ LTC ให้สำเร็จภายในสิ้นปี 2569
เวลาบนดวงจันทร์ต่างจากเวลาบนโลกอย่างไร
ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับการเปรียบเทียบความแตกต่างของเวลาทั่วโลกด้วยการแบ่งไทม์โซน และใช้ “เวลาสากลเชิงพิกัด” หรือ UTC เป็นค่ามาตรฐาน (เช่น ประเทศไทยใช้ UTC +7) ซึ่งค่ามาตรฐานของ UTC นั้นได้มาจาก "นาฬิกาอะตอม" ที่ใช้จำนวนครั้งของการถ่ายเทพลังงานภายในอะตอมเพื่อกำหนดค่าเฉลี่ยของเวลา 1 วินาที
แต่สำหรับดวงจันทร์นั้นต่างออกไป เนื่องจากมีแรงโน้มถ่วงที่น้อยกว่าโลก ทำให้เวลาบนดวงจันทร์เดินเร็วกว่าเวลาบนโลกเฉลี่ย 58.7 ไมโครวินาทีต่อ 1 วันบนโลก นั่นหมายความว่าพวกเขาอาจต้องวัดค่านาฬิกาอะตอมบนดวงจันทร์ เพื่อกำหนดค่าเวลามาตรฐาน LTC
ทำไมการกำหนดค่ามาตรฐานของเวลาบนดวงจันทร์ถึงสำคัญ
หลังจากการสร้างประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรกมาแล้ว นาซ่ากำลังเตรียมแผนที่จะส่งคนขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์อีกครั้งในโครงการ "อาร์เทมิส" ที่จะเริ่มขึ้นภายในเดือนกันยายน 2569 และภารกิจนี้อาจนำไปสู่การสร้างฐานบนดวงจันทร์ ที่จะปูทางให้กับภารกิจสำรวจดาวอังคารเป็นลำดับต่อไป
หากไม่มีมาตรฐานเวลาบนดวงจันทร์ที่เป็นสากล การสื่อสารระหว่างโลก ยานดาวเทียม นักบินอวกาศ และฐานบนดวงจันทร์ จะมีโอกาสเกิดความคลาดเคลื่อนด้านเวลา ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อผิดพลาดในการคำนวนจนส่งผลให้ภารกิจต่าง ๆ ล้มเหลวได้
พวกเขาจึงจำเป็นต้องกำหนดค่าเวลา LTC เพื่อเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการจับเวลาสำหรับยานอวกาศและดาวเทียมบนดวงจันทร์ที่ต้องการความแม่นยำสูงสุดสำหรับภารกิจในอนาคต