กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย กำลังเผชิญปัญหาเด็กเกือบ 30% ของประเทศ โตไม่ทันเพื่อน เพราะกินอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการที่มาจากหลายปัจจัย เช่น พ่อแม่ไม่มีเวลาทำอาหารให้ จึงหวังพึ่งแต่อาหารจานด่วนยอดนิยมที่เรียกว่า "ฟาสต์ฟู้ด" และขนมขบเคี้ยว ขณะที่เด็กบางคนก็ไม่ชอบดื่มนมที่กุมารแพทย์แนะนำ เพราะไม่ชอบรสชาติ
จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ระบุว่าประชากรเด็กเกือบ 1 ใน 3 ที่อายุไม่เกิน 4 ขวบในมาเลเซีย มีปัญหาร่างกายแคระแกร็น เพราะรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพและการเจ็บป่วยแห่งชาติ ประจำปี 2565 ระบุว่าภาวะแคระแกร็นส่งผลกระทบต่อเด็กประมาณ 1 ใน 5 หรือ 21.2% ในมาเลเซีย
ฮันนาห์ โหย่ว รัฐมนตรีกีฬาและเยาวชน เปิดเผยว่า เธอเคยเห็นครอบครัวที่ต้องเอาน้ำผสมน้ำตาลเลี้ยงลูกวัยทารกเพราะไม่มีเงินซื้อนม ส่วนอาวัง เซานี รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข บอกว่า 29.7 ของเด็กมาเลเซีย ที่อายุต่ำกว่า 4 ปี มีปัญหาร่างกายแคระแกร็น และไม่ใช่แค่ในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำเท่านั้น
รัฐกลันตันซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดกับปุตราจายา ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งการบริหารและเป็นหนึ่งพื้นที่มั่งคั่งที่สุด กลับเจอปัญหาเด็กแคระแกร็นเหมือนกัน โดยผู้ที่มีขีดจำกัดเรื่องค่าครองชีพ ต้องพึ่งอาหารราคาถูกและคุณค่าทางโภชนาการต่ำ ส่วนผู้ที่มีรายได้สูงแม้กระทั่งในกลุ่ม 20% ที่มีรายได้ตั้งแต่ 11,820 ริงกิตขึ้นไป (ราว 90,000 บาท) ต่อเดือน ก็มักไม่มีเวลาทำอาหารที่บ้าน จึงต้องพึ่งพาอาหารฟ้าสต์ฟู้ดที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเช่นกัน
การที่เรื่องนี้เป็นปัญหาร้ายแรงก็เพราะอาจสืบทอดต่อจากรุ่นสู่รุ่น รัฐบาลจึงแก้ไขด้วยการเปิดโครงการนมฟรี 1 ปี ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมเกาหลีแห่งมาเลเซีย และบริษัทนม "Farm Fresh Malaysia" เพื่อมอบนมฟรีให้เด็กอายุ 6 ปี หรือต่ำกว่า ในครอบครัวที่มีรายได้น้อยจำนวน 300 คน เพื่อ "ส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ดี และรับประกันว่าจะไม่มีเด็กคนใดต้องหิวโหย"