"หลินฮุ่ย" แพนด้ายักษ์ สวนสัตว์เชียงใหม่ เสียชีวิต โดยทีมสัตว์แพทย์ไทย และจีน ระดมกำลังรักษาอย่างเต็มที่ ระบุว่า "หลินฮุ่ย" เข้าสู่วัยชรา ไม่มีสัญญาณว่าจะป่วย กินอาหารปกติ โดยมีเลือดกำเดาไหลออกทางจมูก
สำหรับ แพนด้ายักษ์ เป็นหนึ่งในสัตว์ที่ได้รับความนิยมจากผู้คนมากที่สุดในโลก และได้รับการยอมรับในระดับสากลว่า เป็นสัญลักษณ์ที่มีเสน่ห์ของจีน เราสามารถพบเห็น แพนด้า ได้ในหลายประเทศทั่วโลก เพราะ พวกมันถูกส่งไปในฐานะที่เรียกว่า "ทูตสันถวไมตรี" จากประเทศจีน
นักวิชาการบางส่วนให้ข้อมูลว่า การให้ แพนด้า เป็นของขวัญเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง น่าจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 7 เมื่อจักรพรรดินีบูเช็กเทียนส่งหมีแพนด้าสองตัวให้กับจักรพรรดิของญี่ปุ่น
แต่จีนเองก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับสัตว์ชนิดนี้เท่าไหร่นัก จนกระทั่งพวกมันเริ่มถูกพูดถึงในแวดวงแฟชั่นของฝรั่งเศสและอเมริกา ทำให้ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีนักสำรวจชาวตะวันตกจำนวนมากพยายามเข้าไปในมณฑลเสฉวน และทิเบต เพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตสีขาวดำตามคำบอกเล่า หนึ่งในนั้นคือคณะเดินทางที่นำโดยลูกชายสองคนของธีโอดอร์ รูสเวลต์ และความคลั่งไคล้นี้ยังนำไปสู่การลักลอบนำแพนด้าออกนอกประเทศจีน
เมื่อเริ่มรับรู้ถึงความสำคัญ และความเสี่ยงที่แพนด้าใกล้สูญพันธุ์ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 มีการจัดตั้งเขตอนุรักษ์หมีแพนด้าสี่แห่งแรกในจีน และออกคำสั่งห้ามล่าสัตว์หลายชนิด รวมทั้งแพนด้ายักษ์
ขณะเดียวกัน การใช้ แพนด้า ทางการทูตระหว่างประเทศก็เริ่มต้นขึ้น ในช่วงปี 1957 - 1982 เมื่อจีนได้ส่งแพนด้ารวม 23 ตัวไปยังประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพทางการทูตและแสดงถึงความใกล้ชิดทางการเมือง
สิ่งที่น่าเศร้าคือ แพนด้า ส่วนใหญ่ที่ต้องไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองในฐานะ "ทูตสันถวไมตรี" ต้องเจอกับปัญหาสภาพแวดล้อมและอาหารการกินจนเกิดอาการเจ็บป่วย และตายตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อเทียบกับอายุขัยเฉลี่ย 20 ปี หากได้เติบโตตามธรรมชาติ
ต่อมาจีนจึงเปลี่ยนแนวทางด้วยการใช้สัญญาเช่า หรือเรียกง่ายๆว่า การให้ยืม แพนด้า เพื่อเหตุผลทางการค้าและการทูต โดยประเทศที่ยืมจะต้องจ่ายเงินให้จีนประมาณ 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี และต่อสัญญาเป็นรอบๆ รวมถึงข้อแม้ว่าลูกแพนด้าที่เกิดมาจะถือเป็นสมบัติของจีน
ปัจจุบัน แพนด้ายักษ์ได้กลายเป็นทั้งสัญลักษณ์ทางการทูต และซอฟท์พาวเวอร์ ที่ช่วยลดภาพลักษณ์ทางการเมืองที่แข็งกร้าวของจีน แต่หลายคนก็ยังคงตั้งคำถามว่า แนวทางการทูตเช่นนี้จะมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์แพนด้า สิ่งมีชีวิตตัวใหญ่ที่เปราะบางเหล่านี้ได้จริงหรือไม่