เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเพิ่งเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านภาพยนตร์ระหว่างทบวงกิจการภาพยนตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย ที่จะมีการลงนามในช่วงประมาณต้นปี 2565 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศ โดยร่างบันทึกความเข้าใจมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดความร่วมมือด้านภาพยนตร์ของทั้งสองฝ่ายภายในระยะเวลา 5 ปี
เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ตั้งเป้าให้ไทยเป็น “soft power” ส่งเสริมการค้า การลงทุน ท่องเที่ยว เป็นสินค้าส่งออกให้ได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นำโดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จับมือกับสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ นำโดย ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ และละลิตา ฉันทศาสตร์โกศล ที่ปรึกษาสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ทำโครงการ “เล่าเรื่องให้เลื่องลือ”
โดยมีเป้าหมายส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพการผลิตสื่อที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ และเห็นความสำคัญของการพัฒนาผู้ผลิตสื่อที่เป็นช้างเผือกจากในชุมชนและท้องถิ่น ให้หยิบประเด็นอัตลักษณ์ของชุมชนมาเล่าเรื่องในมิติแห่งความคิดสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการพัฒนาความคิดใหม่ ๆ
“เนชั่น ออนไลน์” จับเข่าคุยแบบเอ็กซ์คูลซีฟกับนักเขียนบทโทรทัศน์ชั้นครูอย่าง “อาจารย์แดง-ศัลยา สุขะนิวัตติ์” นักเขียนบทละครโทรทัศน์ที่คร่ำหวอดในวงการมากว่า 38 ปี เป็นหนึ่งในผู้ปลุกกระแสละครไทยให้โด่งดัง ล่าสุดเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ที่เป็น Soft Power ของไทย ส่งออกไปขายต่างประเทศ และดึงดูดแฟนละครต่างชาติมาท่องเที่ยวไทยตามรอยละคร
ศัลยา คือหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการบ่มเพาะนักเขียนบทละครรุ่นใหม่ ๆ มาช่วยพัฒนาวงการบันเทิงไทย รวมถึงมีปณิธานและวิสัยทัศน์ในการพัฒนาละครไทยให้เป็นขุมพลังในการดึงดูดความสนใจของชาวต่างชาติ และแสดงให้เห็นถึงเสน่ห์ของไทยในแง่มุมต่างๆ ผ่านละครไทย ดันเป็น Soft Power เฉกเช่นอุตสาหกรรมบันเทิงของจีน หรือเกาหลี
ละครไทยมีศักยภาพที่จะเป็น Soft Power แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน
“ละครไทยจำนวนมากสามารถก้าวไปเป็น Soft Power ได้ เพราะประเทศไทยมีวัฒนธรรมหลากหลาย แต่เราจะดึงขึ้นมาแล้วนำมารวบรวมให้เป็นเรื่องราวที่น่าดูและส่งออกไปทางไหน
ไม่ใช่ผู้ทำละครเท่านั้นที่เป็นผู้ผลักดันและส่งออก ต้องประกอบไปด้วยการร่วมมือร่วมใจกันบูรณาการของทุกหน่วย คือถ้าเราไม่ได้รับการสนับสนุนหรือส่งเสริม เราทำแล้วกองอยู่ แล้วคนที่จะนำไปขายหรือส่งออกไปในโลกสื่อให้คนทั่วโลกหรือให้คนไทยได้รับรู้ ไม่ใช่หน้าที่คนเขียนบทละครเท่านั้น
เราต้องมองไปที่่หน่วยใหญ่ คือ รัฐบาล ควรเอาใจใส่สิ่งที่เราทำ ถ้าเราทำแล้วฮือฮา และเรียกไปคุยนิดหนึ่งแล้วก็จบ ไม่มีอะไร แต่จริงๆ แล้วมีเยอะมากในประเทศไทย ทั้งตัวคอนเทนส์ และตัวบุคคลที่จะทำ เรามีทั้งสมองของคน และศักยภาพของคน นักแสดง คนไทยเราเก่งมาก แต่เหมือนต่างคนต่างอยู่”
คนไทยไม่รู้จักวัฒนธรรมกันเอง
“ปัญหาของคนไทยคือเราไม่รู้จักคนไทยด้วยกันเองด้วยซ้ำ คนภาคกลางไม่รู้จักคนภาคเหนือ คนภาคเหนือก็ไม่รู้จักคนภาคอีสาน ละครอีสานที่ดังมาก ๆ คือคนอีสานดู เราก็ไม่รู้จักวัฒนธรรม ค่านิยม ชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ทั้ง ๆ เราอยู่ในประเทศเดียวกัน
ไม่ว่าคนอีสาน เหนือ ภาคกลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ เราต่างเป็นคนไทย เราควรรู้ ชื่นชมและยินดี รักในวัฒนธรรมทุกท้องถิ่นเหมือนกัน สิ่งที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้ได้คือสื่อ สื่อทุกประเภทสำคัญมาก และเราเป็นสื่อละครซึ่งเป็นหนึ่งส่วนของความบันเทิง”
หัวใจหลักของการเขียนบทละครต้องสัมผัสกับคนดู
“การเขียนบทละครแต่ละเรื่อง เราไม่คาดหวังต้องดังเป็นพลุแตก เมื่อผู้สร้างมอบงานให้ เราทำเต็มที่ ถ้าทำแล้วไปถูกใจคนดู ก็มีคนดูเยอะ ครูเขียนบทละครมาหลายเรื่อง แต่เรื่องที่ได้รับความนิยมนับเรื่องได้
แต่ทั้งนี้ต้องประกอบไปด้วยตัวนักแสดง ตัวเรื่อง เรื่องราว โปรดักชั่น ซึ่งไปถูกจังหวะ เช่น บุพเพสันนิวาส เป็นช่วงจังหวะเดียวกับอุ่นไอรัก คนโหยหาอดีต คนกำลังรู้สึกท้อถอยกับชีวิต ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้แต่งชุดไทย มันแปลกใหม่ ซึ่งปัจจุบันคนก็ไม่นิยมแต่งชุดไทย คนที่รับผิดชอบเช่นกระทรวงที่หยิบยกชุดไทยขึ้นมาได้ แล้วปล่อยให้หมดไป ไม่ต่อยอด"
"ตอนอังศุมาลินตีขิม คนก็ลุกขึ้นมาตีขิมทั้งเมือง มันควรต่อยอดให้คงอยู่ ละครพรหมลิขิตกำลังจะออกอากาศไม่รู้ชุดไทยจะมารึเปล่า มาแล้วคงจะวูบหายไปเหมือนเดิม"
นโยบายรูปแบบไหนที่จะนำละครไทย ให้เป็น Soft Power
“สิ่งนี้คิดคนเดียวไม่ได้ ครูเขียนเรื่องครอบครัว สามคนผัวเมีย ชีวิตในสังคมมาเยอะ เราน่าบอกเล่าต่อคือวัฒนธรรมอื่น ๆ ของไทยบ้าง ซึ่งรัฐบาลก็มีนโยบายผลักดันละครไทยให้เป็น Soft Power แต่ยังไม่เห็นผลักดันอะไรออกมา หรือกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะละครถือเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ต้องคิดร่วมมือร่วมใจกัน คิดด้วยกันน่าจะไปได้ไกลกว่าคิดคนเดียว
ซึ่งโครงการเล่าเรื่องให้เลื่องลือ ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ของ อ.ละลิตา แม่งานใหญ่เป็นความภาคภูมิใจที่ทำให้เราได้รับรู้เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยในภาคต่าง ๆ ได้รับความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งคนไทยหลายคนไม่เคยรู้"
วงการเขียนบทเปิดกว้างให้คนใหม่มากแค่ไหน
“เราต้องการนักเขียนบทละครรุ่นใหม่ ๆ แต่บุคลากรด้านนี้ยังไม่เพียงพอ เราต้องพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ต้นทาง มีการฝึกฝนการเขียน คัดเรื่อง และอาชีพนี้ต้องมีความอดทน เพราะคนหนึ่งคนกว่าจะเขียนบทละครเป็นต้องใช้เวลาเรียนรู้อย่างน้อย 8 ปี
อย่างการเขียนบทฉากตบกัน เราต้องให้คนดูรู้ว่า การตบเกิดขึ้นและมีผลอย่างไร เมื่อตบแล้วต้องมีต่อเพราะการตบกันในสาธารณะไม่ง่ายที่จะจบเรื่องได้ง่าย ๆ ทุกอย่างต้องพัฒนาไปทั้งคนทำและคนดู
ครูเชื่อว่าคอนเทนต์ที่ดี ๆ และมีเหตุมีผล เป็นความจริง ที่ผ่านการสกรีน ผ่านการวิจัย กลั่นกรองแล้วคนจะดู หรือการข่มขืน มีการต่อสู้กันในศาล ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเหมือนจริงทั้งหมด ครูเชื่อว่า คนจะเสพและรู้สึกว่าเขาได้ความรู้เพิ่มขึ้น
นักเขียนรุ่นใหม่ ทั้งรุ่นเก่า หรือทุกอาชีพควรรู้วิธีที่จะหาความจริง ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับความจริงไม่ว่าคุณจะนำเสนออะไร ในทุกสาขาทุกเรื่องทุกราว ข่าวอาชญากรรม เศรษฐกิจ บางทีอ่านหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับไม่เหมือนกัน นั่นหมายถึงเขาไม่ได้ขุดลงไปหาข้อมูลที่จริงแท้ของข่าวนั้น ๆ
ย้อนกลับมาถึงนักเขียนบทละครก็เหมือนกัน ต้องพยายามหา Fact ในเรื่องนั้น ต้องนำเสนอ Fact เรื่องนั้นให้ได้ ต้องอยู่บนรากฐานนำเสนอสิ่งที่เป็นจริงที่สุดกับสังคม ถ้าความจริงนั้นต้องค้นคว้ามาก อย่าหยุดค้น อย่าเขียนบทละครแล้วหยุดเขียน เพราะไม่รู้ เราต้องพยายามไปหาความจริงให้ได้ ความพยายามที่จะทำงานให้สมบูรณ์ที่สุด โดยการวิจัยหาความจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และต้องทำให้สนุกด้วย ซึ่งตรงนี้ยาก
เช่น ฉากข่มขื่นครูคิดว่าน่าทำ ข่มขื่นจะตามมาด้วยอะไร เช่น ตามมาด้วยกฎหมาย คดีความ โทษ การตามหาความจริงของเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ แต่ถ้าจะทำให้รังแกสังคม ไม่รังแกคนดู ก็ไปอยู่ที่การสร้างภาพ เราจะสร้างภาพอย่างไร ภาพนั้นจะมีอะไรบ้าง แสงเงาสีเสียงจะอาร์ตแค่ไหนไม่ให้ร้สึกอนาจาร นั้นเป็นขั้นตอนศิลปะอีกขั้นตอนหนึ่ง
ขั้นตอนต่อไปเป็นคดีความอย่างไร มีความจริงมาตีแผ่ในศาล มีบทลงโทษอย่างไร ต้องเขียนบทให้ไปถึงตรงนั้น ซึ่งเขียนบทรุ่นใหม่ไม่ควรเขียนแค่จบที่การข่มขืน หรือยิงคนตาย มันต้องไม่จบที่แค่ยิงคนตาย ต้องต่อด้วยอะไร อันนี้คือความจริงที่จะให้กับสังคมด้วย"
อนาคตละครไทย
“การเขียนบท จะให้เข้าถึงบทบาทนั้น ๆ หรือฉากนั้น ๆ ผู้เขียนบทต้องศึกษาวิจัยอย่างดี จึงจะเขียนบทออกมาได้ดี การเขียนบทต้องได้รับการสนับสนุนส่งเสริม ได้รับความเข้าใจ ครูในฐานะผู้เขียนบท หน้าที่ของเราคือทำให้ดีที่สุด
ถ้าจะยกทั้งวงการให้ดีขึ้นมา การเขียนประวัติศาสตร์ก็ต้องไปอ่านประวัติศาสตร์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ต้องร่วมมือกัน ถ้ารัฐบาลไม่ทำ เราก็จะทำได้เท่านี้ไปเรื่อยๆ 30 ปีในวงการของครูก็เป็นอย่างนี้มาตลอด เราต้องขวนขวายด้วยตัวเอง จึงไม่อิมแพค ละครหลายเรื่องดูเสร็จก็กองไว้หน้าทีวี ไม่เป็นที่จดจำของคนดู”